วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ประวัติ เชิด ทรงศรี (Cherd Songsri)

เชิด ทรงศรี เป็นชาวนครศรีธรรมราช เริ่มงานด้วยการแกะสลักตัวหนังตะลุงขาย เมื่อจบการ ศึกษาได้เป็นครูอยู่โรงเรียนประจำตำบลบ้านม่วงเจ็ดต้น 1 กิ่งอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกลางป่า หลังจากนั้นเข้าทำงานที่องค์การ ร.ส.พ. โดยเป็นบรรณาธิการนิตยสารยานยนต์ ของ ร.ส.พ. นิตยสารชีวิตใหม่รายสัปดาห์ และวารสารทัศนาจร ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจาก ร.ส.พ. คือ รักษาการหัวหน้าส่วนทัศนาจร จากนั้นเข้าเป็นบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Movie and TV Weekly) และเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ “หลักเมือง” รายวัน (ยุคใหม่)

เชิด ทรงศรี เริ่มเขียนนวนิยาย-เรื่องสั้น ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ที่ ร.ส.พ. แต่มาเขียนอย่างจริงจังหลังจากลาออกจากงานประจำทุกแห่ง โดยมีทั้งเรื่องสั้น สารคดี บทความ บทละครวิทยุ-โทรทัศน์ และบทวิจารณ์ภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังแต่งเพลงร้อง, เพลงประกอบภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ด้วย

เขาสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกคือเรื่อง “โนห์รา” เป็นภาพยนตร์ระบบ 16 มม. ใช้เสียงพากย์ โดยใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง และยังเขียนบทภาพยนตร์ ออกแบบฉาก ลำดับภาพ แต่งเพลงประกอบ กำกับการแสดง และทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง ปรากฏว่าเป็นภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดในปีที่นำออกฉาย ส่วนภาพยนตร์ 16 มม. เรื่องสุดท้ายที่สร้างคือ “พ่อปลาไหล” เป็นภาพยนตร์ตลกและยังเป็นภาพยนตร์ 16 มม.ที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย

หลังจากประสบความสำเร็จทางรายได้จาก “พ่อปลาไหล” เชิด ทรงศรี ได้เดินทางไปฮอลลีวู้ด เพื่อศึกษาวิชาการภาพยนตร์เพิ่มเติมที่ยูซีแอลเอ ได้ฝึกงานกำกับฯและเขียนบทกับ วอลเตอร์ ดอนนิงเจอร์ ที่โรงถ่ายเบอร์แบงค์ แล้วกลับมาสร้างภาพยนตร์ระบบ 35 มม. เริ่มด้วยเรื่อง “ความรัก”

ช่วงที่อยู่อเมริกา 4 เดือน ได้เห็นสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ถูกแยกให้ออกไปอยู่กันตามลำพังจึงเกิดความสำนึกถึงคุณค่าของความเป็นไทยที่ลูกหลานจะช่วยกันดูแลปู่ ย่า ตา ยาย ด้วยความเคารพรักและกตัญญู จึงได้คิดสร้างหนังที่แสดงออกถึงความเป็นไทย แต่ด้วยเหตุผลทางด้านแนวทางของหนังซี่งไม่เป็นที่นิยมของตลาด จึงต้องสร้างหนังเรื่อง “ความรัก” และ “พ่อไก่แจ้” ก่อนเพื่อใช้กำไรจากหนังทั้งสองเรื่องนี้เตรียมไว้สร้างและพร้อมที่จะขาดทุนกับหนังที่อยากสร้าง ซึ่งให้ชื่อเรื่องว่า “แผลเก่า” และตั้งสโลแกนคู่กับหนัง อย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ว่า “เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก” โดยขณะที่สร้างหนังเรื่องนี้ ไม่มีผู้ค้าภาพยนตร์รายใดยอมซื้อหนังเรื่องนี้เลย

แต่เมื่อ “แผลเก่า” ฉาย ปรากฏว่าทำรายได้สูงสุดของภาพยนตร์ทุกเรื่อง ทุกระบบ ทุกชาติ นับตั้งแต่เคยมีภาพยนตร์ฉายในเมืองไทยเป็นต้นมาจนถึงขณะนั้น และในปี พ.ศ. 2524 “แผลเก่า” ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นได้รับรางวัลบทประพันธ์ยอดเยี่ยมและรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากการประกวดในประเทศ ตลอดจนได้รับโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจาก ฯพณฯพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2541 “แผลเก่า” ได้รับเลือกจาก Museum of Moving Image in London นิตยสาร Sight and Sound และผู้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลกอีกด้วย นอกจากเรื่อง “แผลเก่า” แล้ว ผลงานการกำกับของ เชิด ทรงศรี เรื่อง “อำแดงเหมือนกับนายริด” ยังเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเลือกเป็น Opening Film ในงานมหกรรมภาพยนตร์ Focus on Asia 1994 Fukuoka International Film Festival และได้รับเลือกฉาย ณ โรงภาพยนตร์ Art House “Iwanami Hall” และโรงในเครือ ทั่วประเทศญี่ปุ่น

นอกจากจะมีผลงานด้านการกำกับภาพยนตร์อันเป็นที่ยอมรับในระดับสูงทั้งในประเทศและในระดับสากลแล้ว เชิด ทรงศรี ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในด้านอื่นๆของแวดวงภาพยนตร์ไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และยังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติถึงความรู้ ประสบการณ์และความ สามารถจนได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินการประกวดภาพยนตร์นานาชาติอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2540 เขายังได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นอาเซียน สาขาสนเทศ ด้านภาพยนตร์ ด้วย

ผลงานภาพยนตร์จนถึงปัจจุบันของ เชิด ทรงศรี มีด้วยกันทั้งสิ้น 18 เรื่อง คือ โนห์รา, เมขลา, อกธรณี, พญาโศก, ลำพู, คนใจบอด, พ่อปลาไหล, ความรัก, พ่อไก่แจ้, แผลเก่า, เลือดสุพรรณ, เพื่อน – แพง, พลอยทะเล, ทวิภพ, คน – ผู้ถามหาตนเอง, อำแดงเหมือน กับ นายริด, เรือนมยุรา และ ข้างหลังภาพ นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในสี่ผู้กำกับภาพยนตร์เฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีอาเซียน เรื่อง “Southern Winds” (เป็นภาพยนตร์ออมนิบุส 4 เรื่อง กำกับโดยผู้กำกับฯจากประเทศอาเซียน 3 คน คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และผู้กำกับฯชาวญี่ปุ่นร่วมด้วยอีก 1 คน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น