วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เผยโรคอันตราย 15 โรครับฤดูฝน

ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วนั้น ล่าสุดนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาเป็นพิเศษตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2553 เป็นช่วง 90 วันอันตราย โดยโรคที่ต้องติดตามต่อเนื่อง 2 โรคคือ โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และ โรคไข้หวัดนก เพราะหากมีโรคนี้เกิดขึ้นในฤดูฝน เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์ได้ ดังนั้น กรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อ ที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยมี 5 กลุ่มรวม 15 โรค ได้แก่...

1. กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบสาเหตุเกิดจากกินอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

2. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยคือ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะโรคปอดบวมนั้นมีอันตรายอาจถึงชีวิตได้ อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย

3. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู อาการเด่น ๆ ของโรคนี้คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง

4. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) มียุงรำคาญซึ่งมักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนาเป็นตัวนำโรค และโรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3 โรคนี้อาการเริ่มจากมีไข้สูงปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้

5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ใน น้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา

นอกจากนี้ ยังมีโรคน้ำกัดเท้า ที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการเดินลุยน้ำสกปรกนาน ๆ หรือต้องแช่น้ำ เดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตกหนัก ถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำท่วมมาอาศัยในบ้านเรือน และโรคอาหารเป็นพิษจากกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า ในสวน ซึ่งพบในช่วงฤดูฝนทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น