วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ลิบง-เจ้าไหม คือลมหายใจและความหวัง (อสท.)




ธเนศ งามสม...เรื่อง
โสภณ บูรณประพฤกษ์...ภาพ

๑. ทะเลงดงามเสมอ ไม่ว่าฤดูกาลใด

ยิ่งในโมงยามนี้ ยามแสงแรกแห่งวันฉายส่อง ทะเลเจ้าไหมทอประกายวามวาว กลุ่มหญิงสาวในเวิ้งอ่าวดูน่ามองราวกับภาพวาด พวกเธอกำลังหาหอยตะเภา หอยรสชาติดีซึ่งมีอยู่ทั่วอ่าวปากเมงนี้ "รอบ ๆ ตัวเรามีหอยหลายอย่าง นอกจากหอยตะเภาแล้วก็มีหอยหวาย หอยลาย หอยชักตีน" น้าพิมเล่า ขณะลูกชายวัยกำลังซนเดินเคียงอยู่ไม่ห่าง

ทั้งน้าพิมและลูกชายมีท่อพิวีซีกันคนละอัน ท่อนี้มีไว้สำหรับปักลงไป ยังรูที่หอยตะเภาอาศัย หากมีตัวหอยจะติดตามท่อขึ้นมาง่าย ๆ "นี่ล่วง ๗ ค่ำแล้ว น้ำเริ่มตาย ถ้าน้ำลงช่วง ๑ ค่ำจะหาได้มากหน่อย มันจะขึ้นมาตามผืนทราย" น้าพิมบอกพลางหยิบหอยตะเภาใส่ตะกร้าหวาย

เช้าวันนั้น ผมเดินตามน้าพิมและกลุ่มหญิงสาวไปทั่วอ่าวปากเมง พวกเธอส่วนใหญ่มาจากบ้านนาหละ หมู่บ้านมุสลิมซึ่งอยู่ริมชายหาด ผู้คนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดมีรายได้จากสวนยางพารา ทว่าช่วงนี้เริ่มเข้าฤดูแล้ง ต้นยางกำลังผลัดใบ ต้องหยุดกรีดยางนานร่วม ๒ เดือน "ไม่ได้กรีดยางก็หาหอยหาปลา เราทำอย่างนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว" ใครบางคนบอกแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี ฟังแล้วชีวิตคนถิ่นนี้ช่างเรียบง่าย คงเพราะมีทะเลเลี้ยงดูพวกเขาให้อิ่มเอมเติบใหญ่ "หอยตะเภานี่ทำอาหารได้แทบทุกอย่าง" ใครบางคนเอ่ย

"นี่ตัวยังเล็ก ปล่อยไว้ให้มันโตน้ำหน้า" น้าพิมยื่นหอยตะเภาตัวขนาดนิ้วโป้งให้ผมดู แล้วปล่อยมันกลับลงทะเล โมงยามนั้น ยามที่แสงแรกแห่งวันฉายส่อง แดดอบอุ่นยิ่งขับใบหน้าของพวกเธอให้ดูอบอุ่น ชวนมอง ทุกคนยิ้มแย้ม พูดคุยกันสบายใจ ทะเลเจ้าไหมเลี้ยงดูผู้คนให้เป็นเช่นนี้
๒. ที่หาดหยงหลิง ชายหาดด้านทิศใต้ของทะเลเจ้าไหม

ใต้เงาสนร่มรื่น หลายครอบครัวปูเสื่อบนชายหาด ใช้เวลาช่วงบ่ายไปกับการเล่นน้ำ พายคายักสีสด พูดคุยกันเงียบ ๆ สบายใจ

หาดหยงหลิงนับว่าสวย จึงมีทั้งคนท้องถิ่นและจากเมืองไกลมาเยือนหนาตา "หยงหลิงเป็นภาษามลายู หยงแปลว่าแหลม หลิงแปลว่ากะลาสีเรือ เล่ากันว่าเคยมีเรือสำเภามาล่มแถวนี้" ลุงวิโรจน์ จิตต์หลัง หัวหน้าหน่วยฯ หาดหยงหลิงเล่า

ในอดีตทะเลแถบเจ้าไหมคือเส้นทางขึ้นล่องของเรือสำเภา เรือจากปีนังเข้ามาค้าขายที่กันตัง ไปถึง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ในยุคนั้น เจ้าไหมคือเส้นทางการค้า มีเพียงคนท้องถิ่นที่รู้ว่าทะเลผืนนี้อุดมสมบูรณ์เพียงใด ลุงวิโรจน์เล่าว่า "ไม่ใช่แค่ในทะเลนะ ป่าเสม็ดรอบ ๆ ตัวเรานี่ก็มีอะไรอยู่เยอะ มีผักหวานป่า หัวมันทราย ไข่มดแดง ช่วงปลายเดือนเมษายน เห็ดจะขึ้นเยอะแยะ เรียกว่าเห็ดเสม็ด แล้วแต่ก่อนนะ เราเอาเปลือกเสม็ดขาวมามุงหลังคา เปลือกเสม็ดแดงเราใช้ย้อมอวน ย้อมแล้วใช้ทนนาน"

แดดบ่ายค่อย ๆ โรยอ่อน ลมทะเลพัดผ่านทิวสนดังเย็น ๆ ราวกับเสียงฝนพรำ จากหาดหยงหลิง เรากลับมายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม "ราว ๆ ๓๐-๔๐ ปีก่อนโน่น ป่าเสม็ดแถว ๆ หยงหลิงกับแถวที่ทำการฯ นี่เคยมีนาข้าว ผืนดินบางผืนยังปลูกข้าวได้" น้ามุ่ย-สมหมาย อินทเสโน คนเก่าคนแก่ของเจ้าไหมเล่า "ทะเลอยู่ไกลกว่านี้มาก" เธอบอกแล้วก็หันออกไปมองทะเลตรงหน้า "เมื่อก่อนปลาโลบันชุมมาก โลบันคือปลากระบอก มีปลากระบอกมากก็มีโลมามาก โลมาตามมาจับปลากระบอก ดูหยงก็เคยมีมาก" เล่าถึงตรงนี้เธอก็ยิ้มอย่างไร้ความหมาย นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อ ดูหยง แห่งทะเลเจ้าไหม


๓. ใครบางคนเล่าตำนานทะเลเจ้าไหมให้เราฟัง

กาลครั้งหนึ่ง มีชายหนุ่มชื่อลิบง เขาเป็นกะลาสีเรือสำเภาลำหนึ่ง ความที่เป็นคนขยันขันแข็ง เจ้าของเรือสำเภาจึงยกนางมุกต์ลูกสาวให้เป็นภรรยา อยู่มาวันหนึ่ง นางมุกต์ตั้งท้อง เธอร้องขอให้นายลิบงพาไปเยี่ยมบ้าน ครอบครัวของนายลิบงยากจนมาก ชายหนุ่มรู้สึกอาย ทว่าทนคำรบเร้าของภรรยาไม่ไหว จึงยอมบ่ายหัวเรือกลับไปบ้านเกิด ฝ่ายพ่อแม่ เมื่อรู้ว่าลูกชายจะกลับมาเยี่ยม ทั้งสองเตรียมข้าวปลาอาหาร เตรียมมะม่วงเปรี้ยวให้ลูกสะใภ้ซึ่งกำลังท้อง เตรียมมะม่วงหวานให้ลูกชาย

ทว่าพอเรือเดินทางมาถึงบ้านเกิด นายลิบงเกิดอับอายไม่พอใจฐานะเดิมของตน จึงหันหัวเรือกลับ พ่อแม่เห็นดังนั้นจึงน้อยใจ เสียใจ สาบแช่งให้เรือล่มจมหาย แล้วทันใดพายุก็โหมกระหน่ำ โถมซัดเรือสำเภาจนแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ นายลิบงถูกพายุพัดลอยไปกลายเป็นเกาะลิบง นางมุกต์ถูกคลื่นซัดพาไปกลายเป็นเกาะมุกต์ ข้าวของบนเรือกระจัดกระจายกลายเป็นเกาะต่าง ๆ ทั้งเกาะกระดาน เกาะม้า เกาะเชือก เกาะเมง เกาะไหง เกาะแหวน

ว่ากันว่า บนเกาะลิบงยังมีต้นมะม่วงเปรี้ยว มะม่วงหวาน... จากท่าเรือปากเมง เรานั่งเรืออันดามันซีทัวร์บ่ายหน้าเรือลงใต้ จุดหมายแรกอยู่ที่เกาะมุกต์ ซึ่งยามนี้มองเห็นเป็นรูปหญิงท้องนอนหวายอยู่เบื้องหน้า สุดสัปดาห์เช่นนี้มีผู้คนมาเยือนเกาะมุกต์มากหลาย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ พวกเขาไม่ได้มาเพราะตำนานหรือเรื่องเล่า ทว่าที่นี่มี ถ้ำมรกต อันเลื่องชื่อให้พวกเขาแหวกว่าย

จากเกาะมุกต์และถ้ำมรกต เรืออันดามันซีทัวร์ พาเราไปเกาะกระดาน ที่นั่นชายหาดขาวสะอาด น้ำทะเลเป็นสีครามใส มีฝูงปลาหลากสีให้ดำดูอย่างไม่รู้เบื่อ ออกจากเกาะกระดาน เรือบ่ายหน้า พาเราไปดู ค้างคาวแม่ไก่ที่เกาะม้า

ขณะเรือโล้คลื่นลมทะเลยามเย็น ฝูงนกยางทะเลทยอยบินกลับรังนอน ผมหันหน้าไปทางทิศใต้ มองเห็นเกาะใหญ่อีกเกาะราง ๆ ตรงขอบฟ้าคราม นั่นคือเกาะลิบง บ้านของ ดูหยง ซึ่งผมได้ยินเรื่องเล่ามานาน
ผืนแผ่นดินกับลิบงนั้นอยู่ไม่ไกลกันเลย

มีเพียงร่องน้ำสีครามกางกั้น ทว่าความเป็นเกาะนั้น ทำให้ที่นี่ค่อนข้างพิเศษ ๒๐ นาทีจากท่าเรือหาดยาว เกาะลิบงด้านหลังเขาให้อารมณ์รับรู้ว่าเราเพิ่งเดินทางมาถึงเกาะในตำนาน ชายหาดเงียบสงบ มะพร้าวยืนต้นปะปนกับหูกวาง และไม้ใหญ่ดูเขียวสดยามเมื่อมองจากเรือ ร่มรื่นเมื่อพาตัวเข้าไปหลบแดดบ่าย "เมื่อก่อนเงียบสงบกว่านี้อีกนะคะ" น้ารวยซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้จัดการลิบงบีช รีสอร์ต เล่าพลางต้อนรับแขกคนไทยกลุ่มเดียวที่มาเยือนในสัปดาห์นี้

พูดได้ว่า ลิบงบีช รีสอร์ต เป็นที่พักแห่งแรกบนเกาะลิบง เริ่มจากคนท้องถิ่น ต่อยอดโดยครูหนุ่มจากแผ่นดินใหญ่ "ตอนนั้นน้องชายฉันเป็นครูสอนบนเกาะ เขารับช่วงต่อจากเจ้าของที่ดิน ฉันยังจำได้ เขาเป็นเจ้าของรถกระบะคันแรก ทุกครั้งที่เขาขับรถกลับจากตรัง ชาวบ้านจะเดินตามกันเป็นขบวนเลย เพราะจะได้เห็นของแปลก ๆ ใหม่ ๆ" น้ารวย เล่าแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี

เจ้าของรถกระบะคันนั้นจากไปหลายปีแล้ว คงเหลือลิบงบีช รีสอร์ต ไว้ให้คนจากเมืองไกลมาเยือนและไต่ถาม พักอยู่บนเกาะ ๑ คืน ช่วงเช้าเราเตร็ดเตร่อยู่ริมชายหาด สาย ๆ เข้าไปสำรวจบนเกาะ ไปเยือนบ้านบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ หมู่บ้านที่มีอยู่บนลิบง

อิสมาแอน เบ็ญสะอาด ชายซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้เพื่อนบ้านกลับมามองรากเหง้าของตนรอเราอยู่ ที่บ้าน เขาพาเราไปดูบ่อน้ำจืดในป่าชายเลนริมทะเล ซึ่งพบโดยชาวบ้านคนหนึ่งในปีที่เกาะร้อนแล้งขาดแคลนน้ำจืดที่สุด แล้วพาเราไปดูสุสานและร่องรอยเมืองโบราณ

เศษอิฐดินเผาซึงหลงเหลืออยู่ ดูจะเป็นร่องรอยเดียวที่บอกเล่าว่าลิบงเคยเป็นเมืองท่าสำคัญมาก่อน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลิบง ถูกเลือกให้เป็นสถานที่ว่าราชการของเมืองตรัง เพราะเป็นท่าเรือสำคัญของหัวเมืองตะวันตก เรือค้าขายจากปีนัง ไทรบุรี มลายู กันตัง หรือแม้แต่เรือจากบางกอกก็ต้องขึ้น-ล่องผ่านจุดนี้

บังแอน เล่าว่า "ผืนดินบนเกาะก็สมบูรณ์นะครับ ป่าสมบูรณ์ มีกวางป่าชุกชุม เราปลูกข้าวได้ดี มีแตงโมพันธุ์ดีชื่อ แตงจีน เล่ากันว่าเนื้อหวานอร่อย พระยาลิบงซึ่งครองเมืองเวลานั้นมักซื้อไปฝากเพื่อนที่ปีนังบ่อย ๆ" เรื่องราวเหล่านั้นกลายเป็นตำนานไปหมดแล้ว กาลเวลาทำให้ ลิบง เปลี่ยนไป "แต่เรายังมีความหวังนะครับ เรารวมกลุ่มกันเพื่อฟื้นฟูสิ่งดี ๆ ที่เคยมีให้กลับคืนมา" บังแอน บอกน้ำเสียงมุ่งมั่น

ตะวันดวงแดงคล้อยต่ำ กลับจากบ้านบาตูปูเต๊ะ เรานั่งเรือหัวโทงไปยัง หาดตูบ ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ด้านทิศใต้ของลิบง คล้ายเรากำลังเดินทางไปยังที่ซึ่งไม่มีผู้คนเคยรู้จัก น้ำทะเลสีครามสุดสายตา แนวป่าโกงกางเบียดเสียดเขียวชะอุ่ม ขณะเรือลอยลำเข้าใกล้หาดตูบ ฝูงนกทะเลนับพันนับหมื่นก็บินพรูขึ้นจากชายหาด ราวกับประกายแดดวิบวับบนผืนทราย ลอยเป็นสายคล้ายเกลียวคลื่นสีเงิน เมื่อเรือเข้าจอดเทียบ เราเฝ้ารอเงียบ ๆ อยู่ใต้ร่มไม้ พวกเขาค่อย ๆ ทยอยคืนกลับมา โมงยามนั้น ผมพบว่าลิบงช่างสงบเงียบและงดงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น