วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การทำจิตให้สงบ

การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี ธรรมดาของจิต เป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของคนเราจึงไม่มีกำลัง

การทำจิตใจของเราให้มีกำลังกับการทำกายของเราให้มีกำลัง มันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือการออกกำลังทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเราไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลัง ทางด้านสมาธิภายใน

บัดนี้เราจะทำสมาธิ ก็ตั้งใจให้เอาความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ถ้าหากว่าหายใจสั้นเกินไป หรือยาวเกินไป ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบ เหมือนกันกับเราเย็บจักร ผู้เย็บจักรมีมือมีเท้า เราต้องถีบจักรเปล่าดูก่อน ให้รู้จัก ให้คล่องกับเท้าของเราเสียก่อนจึงเอาผ้ามาเย็บ

การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน หายใจเฉยๆ กำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน ยาวขนาดไหน สั้นขนาดไหน จะให้ค่อยขนาดไหน แรงขนาดไหน จะยาวก็ไม่เอากับมันจะสั้นก็ไม่เอากับมัน จะค่อยก็ไม่เอากับมัน เอาตามความพอดี เอายาวพอดี เอาสั้นพอดี เอาค่อยพอดี เอาแรงพอดี นั่นเชื่อว่าความพอดี เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้อง แล้วก็ปล่อยหายใจดูก่อน ไม่ต้องทำอะไร

ถ้าหากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หายใจเข้า ต้นลมอยู่ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัยคือหัวใจ ปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลม เมื่อหายใจออก ต้นลมจะอยู่สะดือ กลางลมจะอยู่หทัย ปลายลมจะอยู่จมูก นี่มันสลับกันอย่างนี้ กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัย ผ่านสะดือ พอสุดแล้วก็จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกสามจุดนี้ พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้น

เมื่อหากว่าเรากำหนดจิตของเราให้รู้จักต้นลม กลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควร เราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉยๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้า เอาแต่ความรู้สึกไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา เอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออกผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงแต่ให้มีความรู้สึกเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกัน ลมออกก็ให้รู้ ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิด เอาเพียงเท่านั้นเสียก่อน ในเวลานี้หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมาก กำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ ต่อไปจิตก็สงบ ลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไป กายก็จะเบาเข้าไป จิตก็จะสงบ ความเบากายเบาใจนั้นก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงานและจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไป นี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำ กำหนดไป….

จิตของเราละเอียดเข้าไป การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ ให้เรารู้จักมัน มันมีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกคลีกันไป มันมีวิตก วิตกคือการจะยกจิตของตนนึกถึงอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ถ้าสติของเราน้อยก็จะวิตกน้อย แล้วก็มีวิจารณ์ คือการตรวจดูตามเรื่องที่เราวิตกนั้น แต่ข้อสำคัญนั้นต้องพยายามรู้ให้ทันอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาลึกลงไปอีก ให้เห็นว่ามีทั้งสมาธิและมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น

คำว่า "จิตสงบ" นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มันต้องมี มีความสงบครอบครองอยู่ ท่านกล่าวถึงองค์ของความสงบขั้นแรกว่า หนึ่งมีวิตก ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีวิจารณ์ คือพิจารณาตามอารมณ์ ที่เกิดขึ้นมา ต่อไปก็จะมีปีติ คือความยินดีในสิ่งที่เราวิตกไปนั้น ในสิ่งที่เราวิจารณ์ไปนั้นจะเกิดปีติคือความยินดีซาบซึ้งอยู่โดยเฉพาะของมัน แล้วก็มีสุข สุขอยู่ไหน สุขอยู่ในการวิตก สุขอยู่ในการวิจารณ์ สุขอยู่กับความอิ่มใจ สุขอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น แหละ แต่ว่ามันสุขอยู่ในความสงบ วิตกก็วิตกอยู่ในความสงบ วิจารณ์ก็วิจารณ์อยู่ในความสงบ ความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ สุขก็อยู่ในความสงบ ทั้งสี่อย่างนี้เป็นอารมณ์อันเดียวกัน อย่างที่ห้าคือเอกัคคตา ห้าอย่างแต่เป็นอันเดียวกัน คือทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์ แต่มีลักษณะอยู่ในขอบเขตอันเดียวกัน คือเมื่อจิตสงบ วิตกก็มี วิจารณ์ก็มี ปีติก็มี สุขก็มี เอกัคคตาก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์เดียวกัน

คำว่าอารมณ์เดียวกันนั้นทำไมจึงมีหลายอย่างหมายความว่า มันจะมีหลายอาการก็ช่างมัน เพราะอาการทั้งหลายนั้นจะมารวมอยู่ในความสงบอันเดียวกัน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เหมือนกับว่ามีคน ๕ คน แต่ลักษณะของคนทั้ง ๕ คนนั้นมีอาการเดียวกัน คือจะมีอารมณ์ทั้ง ๕ อารมณ์ เมื่ออารมณ์อันนั้นอยู่ในลักษณะนี้ท่านเรียกว่า "องค์" องค์ของความสงบ ท่านไม่ได้เรียกว่าอารมณ์ ท่านเรียกว่า วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นอารมณ์ตามธรรมดา ท่านจึงจัดว่าเป็นองค์ของความสงบ มีอาการอยู่ ๕ อย่าง วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีความรำคาญ วิตกอยู่ก็ไม่รำคาญ วิจารณ์อยู่ก็ไม่รำคาญ มีปีติก็ไม่รำคาญ มีความสุขก็ไม่รำคาญ จิตจึงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสิ่งทั้ง ๕ นี้ จับรวมกันอยู่เรื่องจิตสงบขั้นแรกจึงเป็นอย่างนี้

ทีนี้บางอย่างอาจถอยออกม ถ้ากำลังใจไม่กล้า สติหย่อนไปแล้ว มันจะมีอารมณ์มาแทรกเข้าไปเป็นบางครั้ง คล้ายๆ กับว่าเคลิ้มไป แล้วมีอาการอะไรบางอย่างเข้ามาแทรกตอนที่มันเคลิ้มไป แต่ไม่ใช่ความง่วงตามธรรมดาท่านว่ามีความเคลิ้มในความสงบ บางทีก็มีอะไรบางอย่างแทรกเข้ามา เช่นว่า บางทีมีเสียงปรากฏบ้าง บางทีเหมือนเห็นสุนัขวิ่งผ่านไปข้างหน้าบ้าง แต่ว่าไม่ชัดเจนและก็ไม่ใช่ฝันอันนี้จัดเป็นฝันไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังทั้ง ๕ ดังกล่าวแล้วไม่สม่ำเสมอกัน มันอ่อนลง อ่อนเคลิ้มลง จึงเกิดอารมณ์เข้าแทรก อันนี้เป็นอาการของจิต ถ้าหากว่าเรามีความสงบมันก็มีสิ่ง ๕สิ่งนี้เป็นบริวารอยู่ แต่เป็นบริวารในความสงบอันนี้เป็นเบื้องแรกของมัน

ขณะที่จิตเราสงบอยู่ในขั้นนี้ ชอบมีนิมิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจิต มันชอบเป็น แต่ผู้ทำสมาธิจับไม่ค่อยถูกว่า "มันหลับไหม? ก็ไม่ใช่" "มันฝันไปหรือ? ก็ไม่ใช่" ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มันเป็นอาการเกิดมาจากความสงบ ครึ่งๆ กลางๆ ก็ได้ บางทีก็แจ่มใสเป็นธรรมดา บางทีก็คลุกคลีไปกับความสงบบ้าง กับอารมณ์ทั้งหลายบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตของมัน

อย่างไรก็ตามบางคนทำสมาธิยาก เพราะอะไร เพราะจริตแปลกเขา แต่ก็เป็นสมาธิ แต่ก็ไม่หนักแน่น ไม่ได้รับความสบายเพราะสมาธิ แต่จะได้รับความสบายเพราะปัญญาเพราะปัญญาความคิด เห็นความจริงของมันแล้วก็แก้ปัญหาถูกต้อง เป็นประเภทปัญญาวิมุต ไม่ใช่เจโตวิมุต* มันจะมีความสบายทุกอย่างที่จะได้เกิดขึ้นเป็นหนทางของเรา เพราะปัญญา สมาธิมันน้อย คล้ายๆ กับว่าไม่ต้องนั่งสมาธิพิจารณา "อันนั้น เป็นอะไรหนอ" แล้วแก้ปัญหาอันนั้นได้ทันทีสบายไป เลยสงบ ลักษณะผู้มีปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น ทำสมาธิไม่ค่อยได้ง่ายและไม่ค่อยดีด้วย มีสมาธิแต่เพียงเฉพาะปัญญาให้เกิดขึ้นมาได้ โดยมากอาศัยปัญญา เช่น สมมติว่า ทำนากับทำสวน เราอาศัยนามากกว่าสวน หรือทำนากับทำไร่ เราจะได้อาศัยนามากกว่าไร่ ในเรื่องของเราอาชีพของเรา และการภาวนาของเราก็เหมือนกัน มันจะได้อาศัยปัญญาแก้ปัญหา แล้วจะเห็นความจริงความสงบจึงเกิดขึ้นมา มันเป็นไปอย่างนั้น ธรรมดาก็เป็นไปอย่างนั้น มันต่างกัน

บางคนแรงในทางปัญญา สมาธิเป็นฐานไม่มากคล้ายๆ กับว่านั่งสมาธิ ไม่ค่อยสงบ ชอบมีความปรุงแต่ง มีความคิดและมีปัญญาชักเรื่องนั้นมาพิจารณา ชักเรื่องนี้มาพิจารณา แล้วพิจารณาลงสู่ความสงบก็เห็นความถูกต้องอันนั้นจะได้มีกำลังกว่าสมาธิ อันนี้จริตของบางคนเป็นอย่างนั้น แม้จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ตาม ความตรัสรู้ธรรมะนั้นไม่แน่นอน จะเป็นอิริยาบถใดก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ อันนี้แหละผู้แรงด้วยปัญญา เป็นผู้มีปัญญาสามรถ ที่จะไม่เกี่ยวข้องกับสมาธิมากก็ได้ ถ้าพูดกันง่ายๆ ปัญญาเห็นเลย เห็นไปเลยก็ละไปเลย สงบไปเลย ได้ความสบายเพราะอันนั้น มันเห็นชัด มันเห็นจริง เชื่อมั่นยืนยันเป็นพยานตนเองได้ นี่จริตของบางคนเป็นไปอย่างนี้ แต่จะอย่างไรก็ช่าง มันก็ต้องทำลายความเห็นผิดออก เหลือแต่ความเห็นถูก ทำลายความฟุ้งซ่านออกเหลือแต่ความสงบ มันก็จะลงไปสู่จุดอันเดียวกัน

บางคนปัญญาน้อย นั่งสมาธิได้ง่าย สงบ สงบเร็วที่สุด ไว แต่ไม่ค่อยมีปัญญา ไม่ทันกิเลสทั้งหลาย ไม่รู้เรื่องกิเลสทั้งหลาย แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติมีสองหน้าอย่างนี้ ก็คู่กันเรื่อยไป แต่ปัญญาหรือวิปัสสนากับสมถะมันก็ทิ้งกันไม่ได้ คาบเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้

ทีนี้ถ้ามันชัดแจ้งในความสงบ เมื่อมีอารมณ์มาผ่านมีนิมิตขึ้นมาผ่านก็ไม่ได้สงสัยว่า "เคลิ้มไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลับไปหรือเปล่าเมื่อกี้นี้?" "ลืมไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลับไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" จิตขณะนี้สงสัย "หลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่ใช่ " นี่มันคลุมเครือ เรียกว่ามันมั่วสุมอยู่กับอารมณ์ ไม่แจ่มใส เหมือนกันกับพระจันทร์เข้าก้อนเมฆ มองเห็นอยู่แล้ว แต่ไม่แจ่มแจ้ง มัวๆ ไม่เหมือนกับพระจันทร์ออกจากก้อนเมฆนั้น แจ่มใส สะอาด จิตเราสงบ มีสติสัมปชัญญะรอบคอบสมบูรณ์แล้ว จึงไม่สงสัยในอาการทั้งหลายที่เกิดขึ้น จะหมดจากนิวรณ์จริงๆ รู้ว่าอันใดเกิดขึ้นมาเป็นอันใด หมดทุกอย่าง รู้แจ้ง รู้เรื่องตามเป็นจริง ไม่ได้สงสัย อันนั้นเป็นดวงจิตที่ใสสะอาดสมาธิถึงขีดแล้วเป็นเช่นนั้น

ระยะหลัง ๆ มาก็เป็นไปในรูปอย่างนี้ทำนองนี้ เป็นเรื่องธรรมดาของมัน ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้ว ไม่ต้องไปถามว่าง่วงหรือไม่ง่วง ใช่หรือไม่ใช่ ทั้งหลายเหล่านี้มันก็ไม่มีอะไร ถ้ามันชัดเจนก็เหมือนเรานั่งธรรมดานี้เอง นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตาเห็น ทุกอย่างสารพัดไม่มีความสงสัย เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า "เอ๊ะ! สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้ มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้" อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อยๆ ทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุขใจ มีความอิ่มใจ มีความสงบ เป็นเช่นนั้น ต่อนั้นไป จิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้น มันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปด้วย วิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และเรื่องวิจารณ์มันก็จะหมด จะเหลือแต่ความอิ่มใจ อิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม เกิดความสุขกับอารมณ์เดียว นี่มันทิ้งไป วิตาวิจารณ์มันทิ้งไป ทิ้งไปไหน ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามาคือมันสงบ เรื่องวิตกวิจารณ์มันเป็นของหยาบไปแล้ว มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ ก็เรียกว่าทิ้งวิตก ทิ้งวิจารณ์ ทีนี้จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้นวิจารณ์ ความพิจารณาไม่มี มีแต่ความอิ่ม มีความสุขและมีอารมณ์เดียวเสวยอยู่อย่างนั้น

ที่เขาเรียกว่า ปฐมฌาณ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฒาน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราพูดถึงแต่ความสงบ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ต่อไปนี้ก็ทิ้งวิตก วิจารณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป เหลือแต่ปีติกับสุข เอกัคตา ต่อไปก็ทิ้งปีติ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ต่อไปก็มีเอกัคคตากับอุเบกขามันไม่มีอะไรแล้ว มันทิ้งไป เรียกว่าจิตมันสงบ ๆๆๆ จนไปถึงที่อารมณ์มันน้อยที่สุด ยังเหลือแต่โน้น…ถึงปลายมันเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา เฉยอย่างนี้ อันนี้มันสงบแล้วมันจึงเป็น นี่เรียกว่ากำลังของจิต อาการของจิตที่ได้รับความสงบแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้มันไม่ง่วง ความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้าไม่ได้ นิวรณ์ทั้งห้ามันหนีหมด วิจิกิจฉา ความสงสัย ลังเล อิจฉาพยาบาท ฟุ้งซ่าน รำคาญ หนี เหล่านี้ไม่มีแล้ว นี่มันค่อยเคลื่อนไปเป็นระยะอย่างนั้น นี่อาศัยการกระทำให้มาก เจริญให้มาก

สิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้คือ สติ สตินี้เป็นธรรม เป็นสภาวะธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สตินี้คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาท ในระหว่างขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย ธรรมคือสตินี้คือความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตาม สติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ทุกสิ่งสารพัด ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติ ธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์ อันนี้คือการควบคุม การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ไม่ใช่แต่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติก็ยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอ ทำอะไรก็ระมัดระวัง เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายมันก็เกิดขึ้นมา การพูดการกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น เมื่อความอายกำลังกล้าขึ้นมา ความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น ความประมาทก็ไม่มี

นี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ตรงนั้น เราจะไปไหนก็ตาม อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันไม่ได้หนีไปไหน นี่ท่านว่าเจริญสติ ทำให้มาก เจริญให้มาก อันนี้เป็นธรรมะ คุ้มครองรักษากิจการที่เราทำอยู่หรือทำมาแล้ว หรือกำลังจะกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นธรรมะที่มีคุณประโยชน์มาก ให้เรารู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ ความเห็นผิดชอบมันก็มีอยู่ทุกเมื่อ เมื่อความเห็นผิดชอบมีอยู่ เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อ ความละอายก็เกิดขึ้น จะไม่ทำสิ่งผิดหรือสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อรวบยอดเข้ามา มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือการสังวรสำรวมที่มีอยู่ในกิจการของตนนั้น ก็เรียกว่าศีล ศีลสังวร ความตั้งใจมั่นอยู่ในความสังวรสำรวมในข้อวัตรของเรานั้น ก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิ ความรอบรู้ทั้งหลายในกิจการที่เรามีอยู่นั้น ก็เรียกว่าปัญญา พูดง่ายๆ ก็คือจะมีศีล จะมีสมาธิ จะมีปัญญา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อมันกล้าขึ้นมา มันก็คือมรรค นี่แหละคือหนทาง ทางอื่นไม่มี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น