วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การอ่านการเขียนภาษาไทย

ในช่วงตั้งแต่เกิด "พฤษภาวิกฤติ" เป็นต้นมา ประชาชนโดยทั่ว ๆ ไปมักจะบ่นกันอยู่เสมอว่าบรรดาผู้ประกาศหรือผู้อ่านข่าวทั้งทางสถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์ทั้งหลาย ตลอดจนบรรดาข้าราชการระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนเป็นจำนวนมาก มักพูดและอ่านภาษาไทยผิด ๆ อยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่าท่านเหล่านั้นไม่ค่อยได้สนใจภาษาไทยหรือมองไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทยเลย และนับตั้งแต่กรมประชาสัมพันธ์ ที่ถนนราชดำเนินกลางถูกเผาไปแล้ว ก็ไม่เคยได้มีการสอบผู้ประกาศกันอีกเลย เพราะข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ก็ต้องกระจัดกระจายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เครื่องมือที่จะใช้ในการสอบผู้ประกาศก็มีไม่เพียงพอ จึงทำให้คุณภาพของผู้ประกาศซึ่งมีน้อยลงแล้ว กลับยิ่งแย่ลงมากขึ้น ทั้งนี้เพราะบรรดาผู้ประกาศ ผู้อ่านข่าว หรือผู้ดำเนินรายการทั้งหลาย บางทีก็สำคัญตนผิดคิดว่าตนอ่านถูกต้องแล้ว ไม่พยายามปรับปรุงตัวเองหรือหาหนังสือ "อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร" ไปอ่านดูบ้าง ข้าพเจ้าเคยเรียนให้เลขานุการ กบว. เปิดอบรมบรรดาผู้ประกาศและผู้อ่านข่าวทั้งหลายอย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในที่สุดก็ร้อนไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ซึ่งพระองค์สนพระราชฤทัยในเรื่องภาษาไทยอยู่มาก ได้ทรงปรารภเรื่องนี้กับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย และนายกรัฐมนตรีก็ได้แจ้งให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ทราบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลก้าวหน้าออกมาเลย

ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีความรับผิดชอบในเรื่องพจนานุกรมโดยตรง ก็ได้ ตระหนักในเรื่องนี้อยู่ตลอดมา ดังจะเห็นว่าในพจนานุกรมนั้น ได้บอกคำอ่านไว้ด้วย และยังได้พิมพ์เอกสารเผยแพร่ชื่อ "อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร" ออกเผยแพร่ ตั้งแต่สมัยข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการกองศิลปกรรม และได้ตีพิมพ์มาหลายครั้งเป็นหนังสือหลายแสนเล่มแล้ว ซึ่งก็ช่วยได้มาก แต่ก็ยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก

เวลานี้ ดร. บุญพฤกษ์ จาฏามระ นายกราชบัณฑิตยสถาน ได้ปรารภเรื่องนี้กับข้าพเจ้าและขอให้ข้าพเจ้าเขียนโครงการเพื่อเปิดอบรมผู้ประกาศและครูอาจารย์ที่สอนภาษาไทยขึ้น โดยกำหนดว่าจะเปิดอบรมปี ละ ๒ รุ่น รุ่นละ ๖๐ คน โดยใช้เวลาอบรมรุ่นละ ๗ วันเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมในการเข้ารับการอบรมใด ๆ นอกจากค่าเครื่องดื่มบ้างเท่านั้น เพราะจุดมุ่งหมายของราชบัณฑิตยสถาน ก็คือจะช่วยประเทศชาติในการพัฒนาบุคลากรในด้านการอ่านการเขียนภาษาไทย ที่ถูกต้องให้มากยิ่งขึ้น ถ้าหากจะมีรัฐมนตรี ผู้แทนราษฎร หรือผู้บริหารราชการในระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไปที่ปรกติชอบพูดหรือให้สัมภาษณ์อยู่เสมอ สมัครเข้ารับการอบรมด้วยก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะบุคคลเหล่านี้แหละที่มักทำให้ภาษาไทยมีส่วนวิบัติมาก เนื่องจากท่านพูดไม่ชัด ตัว ร ล หรือตัวควบกล้ำ บางทีท่านพูดไม่ได้เลย เช่น คำว่า "กรมการปกครอง" ก็พูดเป็น "กม - กาน - ปก - คอง" คำว่า "รัฐมนตรี" ก็ออกเสียงเป็น ลัด - ถะ - มน - ตี" ซึ่งก่อให้เกิดความรำคาญหูอย่างยิ่ง นอกจากนั้นก็ชอบพูดภาษาไทยปนภาษาฝรั่งซึ่งบางทีก็เป็นภาษาฝรั่งผิด ๆ หรือบางทีก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ภาษาฝรั่งเลย เพราะเป็นคำง่าย ๆ และก็มีคำภาษาไทยบัญญัติไว้แล้ว เช่น เขาเอ็นจอยในการเมาต์มาก ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะพูดว่า "เขาชอบพูดมาก" ก็ได้ แต่บุคคลที่ชอบพูดไทยปนฝรั่งนี่แหละเวลาให้ไปพูดกับฝรั่งหรือเจรจากับฝรั่งแล้ว ก็มักจะปฏิเสธ คงจะกลัวฝรั่งฟังไม่รู้เรื่องก็ได้

นอกจากนั้นบรรดาศัพท์บัญญัติต่าง ๆ บางคนก็สงสัยว่าทำไมต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นมาด้วยจะใช้ทับศัพท์เป็นภาษาฝรั่งเสียเลยไม่ได้หรือ เรื่องเหล่านี้ทางราชบัณฑิตยสถานพร้อมที่จะชี้แจงให้ทุกคนได้ทราบอย่างเป็นทางการ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่างานนี้ ถ้าราชบัณฑิตยสถานเป็นเจ้าของเรื่องคงจะได้ผลมากทีเดียว และจะเท่ากับเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ภาษาไทยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เหตุที่เราต้องเริ่มต้นจากครูอาจารย์ และข้าราชการก่อนนั้น เพราะบุคคลเหล่านี้จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่อนุชนรุ่นต่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น