วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ดอกลาน บานสะพรั่งมากสุดในรอบ 6 ปี


ดอกลาน บานสะพรั่งมากสุดในรอบ 6 ปี
ตะลึงป่าลานผืนสุดท้ายกว่า 3 หมื่นไร่ ออกดอกบานสะพรั่งมากสุดในรอบ 6 ปี ชี้เป็นวัฎจักรออกดอกแล้วต้นจะตาย มีไม้รุ่นใหม่ขึ้นทดแทน แต่สถานการณ์น่าห่วงคาดเหลือเพียงแห่งเดียวที่อุทยานแห่งชาติทับลาน นายตระกูล อาจอารัญ หัวหน้าเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 2 (สวนห้อม) อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจปริมาณต้นลานในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 30,000 กว่าไร่ เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย- ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ต้นลานกำลังออกดอกเตรียมที่จะผลิบานในเดือน ก.ย.นี้จำนวนมาก และคาดว่าในปีนี้จะมีต้นลานที่ออกดอกบานมากที่สุดในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา สร้างความสวยงามแปลกตาให้กับบริเวณป่าลานในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมากที่สุดอีกปีหนึ่งอีกด้วย โดยต้นลานที่กำลังออกดอกในขณะนี้ เป็นต้นลานที่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งตามธรรมชาติแล้วดอกลานจะออกดอกเพียงหนึ่งครั้ง และเมื่อออกดอกแล้วลำต้นก็จะเหี่ยวตายและมีต้นลานต้นใหม่ที่เกิดจากดอกลานที่กลายเป็นเมล็ดผลิขึ้นมาแทนที่ต้นเดิม นายตระกูล กล่าวว่า ใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินสำรวจทางอากาศเหนือพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานทั้งหมด พบว่า ปริมาณของดอกลานในปีนี้มีจำนวนมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือน มิ.ย – ก.ค. เป็นช่วงที่ต้นลานเริ่มผลิดอก เริ่มบานในเดือน ส.ค.และจะบานเต็มที่ในเดือน ก.ย. - ม.ค. 2553 จากนั้นจะเริ่มร่วงจนหมดในเดือน พ.ค. ทำให้ขณะนี้ทั่วทุกบริเวณของพื้นที่ในเขตอุทยาน ทับลาน จึงเต็มไปด้วยดอกลานที่กำลังบานเป็นสีขาว ครอบคลุมไปทั่ว ทั้งในพื้นที่ป่าด้านล่าง รวมไปถึงตามยอดเขา และน้ำตกต่างๆ ทำให้เริ่มมี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาชมความแปลกตาของดอกลานมากขึ้นแล้ว "จากหลักฐานข้อมูลที่เราเคยสำรวจเก็บไว้ พบว่าเมื่อประมาณปี 2546-47 หรือประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ก็เคยมีจำนวนดอกลานออกดอกบานสะพรั่งจำนวนมาก ครอบคลุมทั่วบริเวณอุทยานฯ ไปหมด แต่พอปีต่อๆ มาดอกลานก็ลดน้อยลง ไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนคราวนั้น แต่พอมาถึงปีนี้ก็กลับพบว่ามีดอกลานออกดอกมาจำนวนมากอีกครั้ง สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วไปทั้งบริเวณต้นที่อยู่ตามริมถนน หรือเข้าไปในบริเวณป่า โดยดอกลานจะออกดอกเพียงครั้งเดียวเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ก่อนที่มันจะตายลง มีดอกเป็นสีขาว ต้นหนึ่งจะผลิตดอกประมาณ 60 ล้านดอกทีเดียว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของต้นลานทั่วประเทศกำลังน่าเป็นห่วง ล่อแหลมต่อการถูกรุกรานจนมีปริมาณลดลง เพราะถูกชาวบ้านตัดทิ้งเพื่อใช้นำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก่อนหน้านี้พบต้นลานมากอยู่ในหลายพื้นที่ เช่นที่ ต.ดงลาน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น หรือ ในพื้นที่หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ แต่เชื่อว่ามีเพียงที่ทับลานเท่านั้นที่ยังคงมีต้นลานหน่าแน่นมากที่สุดในประเทศไทย "ต้นลานเป็นต้นไม้โบราณ ที่มีประโยชน์หลายอย่าง ในอดีตใบลานจะถูกนำมาใช้ในการเขียนบันทึกต่างๆ รวมทั้งเขียนเป็นคัมภีร์ และใช้ทำเป็นเครื่องจักรสาน ส่วนเม็ดลานก่อนหน้านี้จะนำมาทำเป็นขนมหวาน เรียกว่า ลูกชิด แต่ภายหลังเลิกใช้เปลี่ยนไปใช้ลูกจากแทน นอกจากนี้ต้นลานยังมีประโยชน์ในระบบนิเวศแสดงถึงความสมบูรณ์ของป่าอีกด้วย ดังนั้นการที่ดอกลานออกดอกมากในปีนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้เรียนรู้ และร่วมอนุรักษ์ต้นลาน ซึ่งถือว่าเป็นต้นไปดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ให้เพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นต่อไป" นายตระกูล กล่าว นอกจากนี้ หัวหน้าเขตการจัดการอุทยานแห่งชาติทับลานที่ 2 (สวนห้อม) กล่าวอีกว่า สำหรับนัก ท่อง เที่ยว หรือประชาชนที่สนใจอยากจะเข้ามาดูดอกลานบานในปีนี้ สามารถเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอดเวลา โดยในระยะช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย.นี้จะเป็นช่วงที่ดอกลานบานอย่างเต็มที่ และมองเห็นได้ง่ายตลอดริมข้างทาง และจะค่อยๆ เข้าสู่ระยะร่วงโรยในเดือน ต.ค. ไปจนถึง เดือน พ.ค. 53 แต่ก็ยังสามารถชื่นชมดอกลานและเม็ดลานได้เพราะมีอยู่ปริมาณมาก ทั้งนี้ทางอุทยานฯ ได้จัดเตรียมแผ่นพับ รวมถึงบอร์ดให้ความรู้วิชาการเกี่ยวกับต้นลานไว้บริการสำหรับผู้ที่สนใจ รวมทั้งการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกต้นลานโดยการใช้หนังสติ๊ก ยิงเม็ดลาน จากบริเวณผาเก็บตะวัน ไปบนพื้นที่ด้านล่างเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอีกด้วย "เม็ดลานที่จะร่วงลงและกลายเป็นต้นลานต้นใหม่นี้ ในชั่วชีวิตเราอาจจะไม่สามารถกลับมาเห็นมันออกดอกได้อีกเพราะมันจะออกดอกตอนอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่เราก็สามารถมองเห็นดอกลานของต้นลานอื่นๆ ได้ และหากไม่ได้ชมดอกลานบานจำนวนมากที่สุดในปีนี้ ก็อาจจะต้องรอไปอีก 5-6 ปี ที่ดอกลานจะบานให้เห็นเยอะๆ ขนาดนี้" หน.เขต อช.ทับลานที่ 2 (สวนห้อม) กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับป่าลาน ที่อุทยานทับลาน สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้านตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ไม้ลานเป็นพืชในตระกูลปาล์ม ( Palmae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Becc. บริเวณป่าลานและป่ารุ่นเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ่มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน และคางคก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น