วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

เรื่องของ ผมทรงนักเรียน


เรื่องของ ผมทรงนักเรียน

ในขณะที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกายหรือทรงผม แต่ด้วยเทรนด์แฟชั่นสมัยนี้ก้าวไปไกลและรวดเร็ว ชนิดคนรุ่นหลังอาจจะมึน ๆ ไปกับความแปลกใหม่ ล้ำหน้าของเหล่าวัยรุ่นทั้งหลายด้วยซ้ำ

ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม ต้องปรับแต่งให้พ้นจากคำครหาว่า "ไม่อินเทรนด์" ไม่เว้นรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ หรือแม้แต่วัยรุ่น วัยเรียน ถึงจะถูกจำกัดด้วยเครื่องแบบในชุด "กระโปรงบาน ขาสั้น" แต่ก็ใช่ว่าจะยอมปล่อยให้แฟชั่นก้าวไป โดยทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง

ตามประสาวัยรุ่น วัยวุ่น ๆ ของเหล่าเด็กมัธยม ที่อยู่ในช่วงเรียนรู้ ลองผิดลองถูก.. ผมหน้าม้า ซอยสั้น โกรกสี จึงมีให้เห็นกันเกลื่อนตาในขณะนี้ หรือแม้แต่ในยุคสมัยหนึ่งที่กระแสแฟชั่นเกาหลี ญี่ปุ่น ครอบงำมากเข้า นักเรียนบางคนถึงขั้นตัดผมทรงพังก์ โกรกผมสีทองกันเลย จนต้องมีการออกกฎระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ว่าด้วยเครื่องแต่งกายนักเรียน ควบคุมตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 แต่ก็ยังไม่วายมีหลุดรอดให้เห็นอยู่ดี

ในมุมมองของผู้บริหารโรงเรียนแล้ว คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร

เริ่มจากโรงเรียนหญิงล้วนอย่าง โรงเรียนสตรีวิทยา ผู้อำนวยการ "เฟื่องฟ้า ประดิษฐ์พจน์" ระบุว่า "จริง ๆ ระเบียบของโรงเรียนสตรีวิทยา กำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ม.ต้น หรือ ม.ปลาย จะต้องไว้ผมสั้น แค่ปกเสื้อ จะมียกเว้นให้เฉพาะนักเรียนด้านนาฏศิลป์ หรือกรณีที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็ต้อง ขออนุญาตเป็นรายกรณีไป ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อ 20 ปีก่อน นักเรียนสตรีวิทยาทุกคนผมทุกเส้นจะต้องเท่ากันหมด แต่วันนี้สังคมเปลี่ยนไปก็เข้าใจวัยรุ่น

"แต่ก็เข้าใจว่าเด็กในยุคนี้จะให้ผมทุกเส้นยาวเท่ากันคงเป็นไปไม่ได้ ก็อาจต้องยืดหยุ่นบ้าง แต่ต้องไม่เกินเลย พบกันคนละครึ่งทาง แต่ต้องอยู่ในคอนเซ็ปต์ของสตรีวิทยา คือผมสั้น ซึ่งที่ผ่านมาทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็รับได้ เพราะเป็นประเพณีของสตรีวิทยาที่ยึดถือกันมายาวนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ถึงจะให้ทุกคนไว้ผมสั้น แต่ก็ไม่ใช่สั้นจนดูน่าเกลียด"

นอกจากนั้น ยังมีรณรงค์ไม่ให้นักเรียนไว้ผมม้า เพราะ "ต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นแฟชั่นฮิต เด็กกำลังนิยม แต่ถ้ามาโรงเรียนจะต้องติดกิ๊บให้ดูเรียบร้อย ไม่อย่างนั้นเวลาเขียนหนังสือผมก็ไปแทงตาได้"

ผอ.เฟื่องฟ้า ยืนยันว่า กฎระเบียบเหล่านี้เป็นความพยายามที่โรงเรียนต้องการฝึกระเบียบวินัยให้กับนักเรียน เพราะถ้าเราไม่เคารพกติกาตอนนี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นคนไม่เคารพสังคม ไม่รู้ว่ากฎระเบียบคืออะไร ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจกับเด็กให้รู้ถึงวัตถุประสงค์เหล่านี้

"ทางโรงเรียนมีอาจารย์ช่วยดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยเดือนละ 1 ครั้ง บางทีเด็กบางคนไว้ผมยาวมากเกินไป ไม่ทันไปตัด ครูก็จะช่วยตัดให้ซึ่งบางคนก็เห็นดีด้วยเพราะโรงเรียนตัดให้ไม่ต้องเสียเงิน คิดว่าครูตัดให้สบายใจกว่า เพราะไปตัดเองบางทีก็สั้นเกินไป แต่ถ้า ทางโรงเรียนตัด ก็ไม่ได้ตัดให้สั้นไปจนน่าเกลียด ไม่ใช่การตัดเพราะลงโทษ หรือถ้าบางคนอยากไปตัดเองก็ต้องไปจัดการมาให้เรียบ ร้อยภายใน 2-3 วัน"

แม้ว่าในบางโรงเรียนเมื่อนักเรียนขึ้น ม.ปลายแล้ว ก็อนุโลมให้ไว้ผมยาวได้ แต่ต้องมัดให้เรียบร้อย แต่ผอ. เฟื่องฟ้ายืนยันว่าให้ไว้ผมยาวได้ก็มีปัญหาอีก เพราะเด็กบางคนไปซอยแบบหางหนู ตัดมาแบบแหว่งๆ รวบผมแล้วก็เหลือหางอยู่นิดเดียว เมื่อโรงเรียนเลิก ก็ปล่อยผมสยายออกมาอยู่ดี ดังนั้น จึงกำหนดระดับเดียวกันทั้ง ม.ต้น ม.ปลาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

"ถ้าถามว่าทรงผม หรือแม้แต่การแต่งกายของนักเรียนมีผลต่อการเรียนของเด็กหรือไม่ หากผมสั้นแล้วจะเรียนเก่งขึ้นหรือ ก็ตอบได้ว่าคงไม่มีผลกระทบอะไร แต่การที่โรงเรียนต้องออกกฎทั้งเรื่องเครื่องแบบนักเรียน หรือทรงผม ก็เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักคำว่าระเบียบวินัย และเอาความตั้งใจทั้งหมดพุ่งไปที่การเรียนมากกว่าไปวิ่งตามเทรนด์ ไม่มัวแต่ห่วงเรื่องแต่งตัว ทรงผม"

ผอ.เฟื่องฟ้า เห็นว่าระเบียบเหล่านี้จะช่วยฝึกนักเรียนให้เติบโตได้อย่างมีวินัย เมื่อโตไปแล้ว สังคมมีระเบียบ กติกาอย่างไร ก็จะรู้ว่าตนเองควรปฏิบัติตัวอย่างไรได้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นในอนาคตนักเรียนก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ที่มีกฎระเบียบ แต่เด็กไม่เคยมี ไม่ต้องทำตามอะไร อยากทำอะไรก็ทำ โตไปก็อยู่ในสังคมไม่เป็นสุขเท่าที่ควร

ขณะที่ฟากโรงเรียนชายล้วนอย่าง โรงเรียนสวนกุหลาบผู้อำนวยการ "มนตรี แสนวิเศษ" ก็ยอมรับว่า ในส่วนของนักเรียนชายนั้นอาจไม่มีปัญหานี้เท่ากับนักเรียนหญิง

"ระเบียบของโรงเรียนคือ นักเรียนชายทุกคนจะต้องตัดผมสั้น หรือที่รู้จักกันว่าขาวสามด้าน แต่ก็มียืดหยุ่น ในกรณีที่นักเรียนบางคนอาจได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือเข้าวงการบันเทิง ซึ่งผู้ปกครองก็จะมาขออนุญาต ทางโรงเรียนก็จะประกาศให้นักเรียนทุกคนทราบหน้าเสาธงเมื่อมีนักเรียนคนใดได้รับอนุญาตให้ไว้ผมยาวได้ เพื่อไม่ให้มีการครหาได้ว่า 2 มาตรฐาน"

นักเรียนที่อยากไว้ผมยาวขึ้นก็มีบ้าง อย่าง ม.ปลาย นักเรียนก็มาขออนุญาตไม่ตัด เพราะอยากไว้ผมยาวบ้าง อย่างรองทรงสั้น แต่นักเรียนชายก็ต้องเรียน ร.ด.(รักษาดินแดน) อยู่ดี ดังนั้น ก็หนีไม่พ้น ต้องหัวเกรียนหมดทุกคน

"ระเบียบที่ทางโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนยึดถือปฏิบัติ ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ค่อยมีการฝ่าฝืน เพราะส่วนหนึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็เห็นดีด้วย อีกทั้งมีผลคือนักเรียนจะถูกตัดแต้มคะแนน ซึ่งถ้านักเรียน ม.ต้น ถูกตัดแต้มมากๆ ก็อาจไม่มีสิทธิ์เรียนต่อ ม.ปลาย ในโรงเรียนเดิมได้ ซึ่งผู้ปกครองก็ยอมรับ ถ้าลูกจะออกนอกกรอบ พ่อแม่จะสกรีนเบื้องต้นอยู่แล้ว"

ผอ.มนตรี เชื่อว่า "เมื่อถึงเวลานักเรียนก็สามารถทำอะไรได้ตามใจตัวเองอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือส่งเสริมความเป็นผู้นำ มีวินัยในตนเอง ดังนั้น การที่นักเรียนเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ไม่ใช่มัวแต่ไปตามแฟชั่น"

ในส่วนของโรงเรียนสหศึกษา ที่มีทั้งนักเรียนชาย-หญิง ผู้อำนวยการ "จำนงค์ แจ่มจันทร์วงศ์" ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีอยุธยา บอกว่า "มาตรการของโรงเรียนจะมีข้อห้ามไม่ให้นักเรียน ซอย สไลซ์ผม แต่ก็ยอมรับว่ามีเหตุฝ่าฝืนเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักเรียน ม.ปลาย อนุโลมให้ไว้ผมยาวได้ บางคนก็ไปซอยมา เวลาเข้าโรงเรียนก็จะรัดผมเรียบร้อย แต่ก็มีไม่มาก"

ผอ.จำนงค์ ยอมรับว่า เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ใกล้ชิดกับแฟชั่นจนแทบแยกกันได้ยาก โดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียน นักเรียนหลายคนก็อาจจะไปดัด ซอยตามแฟชั่น ซึ่งทางโรงเรียนต้องทำหนังสือถึงผู้ปกครองล่วงหน้าก่อนปิดภาคเรียน ให้ช่วยดูแลสอดส่อง แต่ก็ยอมรับว่าบางครั้งพ่อแม่ก็บังคับไม่ได้เท่าไร แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเปิดเทอมจะต้องอยู่ในกติกาของโรงเรียน"

"หากพบนักเรียนที่ผิดระเบียบก็จะต้องเรียกมาคุย ซึ่งโรงเรียนก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจว่าที่นักเรียนทำเหมาะสมหรือไม่ หากตามแฟชั่นจนมากไปแล้วเกิดอันตรายอย่างไรกับนักเรียน ซึ่งครูจะต้องมีหน้าที่ชี้ให้นักเรียนได้เห็นว่าการทำแบบนี้จะเป็นการเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่ไม่หวังดี ดังนั้นแฟชั่นไม่ใช่ว่าเราจะต้องเดินตามให้ทันจนเกินไปทุกเรื่อง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอันตรายมากกว่าที่จะได้ประโยชน์"

สุดท้ายแล้ว ผอ.จำนงค์ก็ยอมรับว่า "สถานการณ์นักเรียนในปัจจุบันนี้ อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้มาตรการไปบังคับทั้งหมด แต่ต้องมีข้อตกลงระหว่างนักเรียนให้เหมาะสม

อีกมุมสะท้อนที่น่ารับฟัง

ฟาง-ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์ นักร้องสาว ทริโอ "เฟย์-ฟาง-แก้ว"

ฟาง-ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์ อธิบายถึงทรงผมของตัวเองว่า "ปัจจุบันฟางเรียนอยู่ชั้น ม.6 ตามกฎของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่เป็นโรงเรียนประจำนั้น ค่อนข้าง มีอยู่มาก โดยในชั้นมัธยมปลายทางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ต้องเก็บผมให้เรียบร้อย โดยการรัดผมและรวบผมด้วยโบแดง ซึ่งในช่วงมัธยมต้นทางโรงเรียนก็มีกฎว่า ถ้านักเรียนผมหยิกหรือผมหยักศก สามารถไว้ผมยาวได้ ซึ่งฟางเป็นคนผมหยักศกอยู่แล้วจึงไว้ได้ผมยาวมาตั้งแต่มัธยมต้นจน ถึงตอนนี้ แต่ก็จะดูแลให้เรียบร้อยตามกฎของโรงเรียนเสมอ จึงไม่มีปัญหากับทางโรงเรียนค่ะ"

"และเมื่อเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง ด้วยการเป็นนักร้อง ทางคุณแม่ขอกับทางอาร์เอสว่ายังไม่อยาก ให้ย้อมสีผม เพราะเป็นกฎของโรงเรียนที่ห้ามนักเรียนทำโดยเด็ดขาด ให้เป็นสีผมธรรมชาติของตัวเองเท่านั้น"

นักร้องสาวเล่าให้ฟังด้วยว่า "พอมาอัลบั้มชุดที่ 2 ทางโปรดิวเซอร์ขอให้ย้อมสีผม ฟางกับคุณแม่เลยให้ทางค่ายช่วยนำรูปแบบเสื้อผ้าและสีผมที่จะทำมาให้โรงเรียนพิจารณาก่อนที่จะออกอัลบั้ม เมื่อโรงเรียนอนุญาตแล้ว ทางค่ายก็จะทำตามที่ได้บอกกับโรงเรียนไว้ ส่วนเรื่องสีผมที่ทำนั้นก็ต้องไม่แรงและฉูดฉาดเกินไป พอกลับมาเรียนตามปกติก็ต้องย้อมสีผม ให้เป็นสีเดิมด้วย ซึ่งทางโรงเรียนก็เข้าใจและให้การสนับสนุน แต่ได้บอกกับฟางและคุณแม่ว่า อย่าให้ฟางทิ้งการเรียนค่ะ ซึ่งที่ผ่านมาฟางก็ทำทั้งสองอย่างได้ดีมาตลอดค่ะ"

ขนมจีน-กุลมาศ ลิมปวุฒิวรานนท์ นักร้องสาววัยโจ๋ เรียน ร.ร.สตรีวิทยา

ขนมจีน-กุลมาศ ลิมปวุฒิ วรานนท์ บอกว่า "ทางโรงเรียนของขนมจีนห้ามไว้ผมยาวค่ะ แต่ที่ขนมจีนไว้ได้ เพราะทางอาร์เอสทำจดหมายขอกับทางโรงเรียนว่าขนมจีนจะต้องไปทำงานในวงการบันเทิง"

นักร้องสาววัยมัธยมปลายบอกด้วยว่า "แต่เวลาขนมจีนมาโรงเรียนแล้ว ก็ต้องเก็บผมม้าให้เรียบร้อย เพราะที่โรงเรียนห้ามไว้เด็ดขาดค่ะ และที่โรงเรียนห้ามปล่อยผมยาว และต้องแต่งตัวเรียบร้อย ซึ่งขนมจีนก็ปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนอย่างเคร่งครัดด้วยค่ะ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น