วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พระราชินี พระราชทาน คำขวัญวันแม่ 2552


พระราชินี พระราชทาน คำขวัญวันแม่ 2552
พระราชินีพระราชทานคำขวัญอัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2552 ขณะที่ กรมธนารักษ์ เตรียมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรสครบ 60 ปี นำทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจากห้องมั่นคงกว่า 100 ชิ้นจัดแสดง

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2552 เพื่ออัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติปี 2552 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยจัดจำหน่ายในงานวันแม่แห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม 2552 ที่สวนอัมพร ความว่า...

แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่
ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม

ภายในหนังสือมีรายละเอียดของแม่ดีเด่น ประจำปี 2552 รวมทั้งยังสามารถสั่งซื้อได้จากส่วนประชาสัมพันธ์ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ พร้อมกันนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเป็นประธานเปิดงานและประทานรางวัลแก่แม่ดีเด่นประจำปีนี้อีกด้วย

ขณะที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เตรียมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส ธนารักษ์ร่วมใจ เทิดไท้พระบารมี โดยเมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า เนื่องด้วยปี 2553 เป็นปีแห่งมหามงคลในโอกาส 60 ปีแห่งพิธีบรมราชาภิเษก และราชาภิเษกสมรส ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชดำริและพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทยให้ดำรงชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา กรมธนารักษ์จึงได้กำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี พิธีบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส ขึ้นในวันที่ 13-16 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ภายในงานจะจัดให้มีการแสดงนิทรรศการและกิจกรรมมากมาย โดยแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 ธนารักษ์ร่วมใจเทิดไท้พระบารมี จัดแสดงภาพและคำบรรยายเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส รวมถึงบอกเล่าประวัติ บทบาท และภารกิจของกรมธนารักษ์

โซนที่ 2 ทรัพย์สินมีค่า คู่ฟ้าภูมิสยาม นำเสนอพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่ใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส อาทิ จั่นหมาก จั่นมะพร้าว (เป็นเครื่องประกอบในพระราชพิธี ซึ่งมีความหมายเป็นมงคลที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรือง และมีทรัพย์ศฤงคาร) หีบพระศรีทองคำลงยา (หีบใส่หมาก) รัดพระองค์และปั้นเหน่ง (เข็มขัดและหัวเข็มขัด) เป็นต้น รวมทั้งแสดงกรรมวิธีการสร้างทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินแบบโบราณ และจัดแสดงวิวัฒนาการเงินตราไทย

โซนที่ 3 โรงกษาปณ์ จัดแสดงประวัติโรงกษาปณ์จากอดีตถึงปัจจุบัน และจัดแสดงเครื่องราชอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง และเงินตราโบราณ รวมถึงเงินพดด้วงสมัยอยุธยา ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในโลกน้ำหนักเพียง 0.2 กรัม และเงินตราที่หาชมได้ยาก โซนที่ 4 ราชพัสดุ เป็นการจัดแสดงที่ราชพัสดุเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีการแสดงโฉนดที่ดินโฉนดที่ 1 และหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงฉบับที่ 1 ของประเทศไทย ในโซนนี้ยังเปิดให้บริการสอบถามราคาประเมินที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและอาคารชุด ที่จะรู้ผลได้ภายใน 1 นาที

โซนที่ 5 เป็นโซนจำหน่ายผลิตเหรียญและจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หายากกว่า 83 รายการ และโซนที่ 6 กิจกรรมส่วนกลาง เป็นการเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้จากผู้รู้ในสาขาต่างๆ อาทิ เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส เรื่องบทบาทของกรมธนารักษ์กับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เรื่องการใช้ที่ราชพัสดุตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า เหตุผลหลักของการจัดงานครั้งนี้คือ การเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี ในโอกาสบรมราชาภิเษกและราชาภิเษกสมรส โดยจุดประสงค์หลักของงานก็เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

"กรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ได้จัดงานนี้ขึ้นโดยการนำทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับ 2 งานพระราชพิธีสำคัญนี้มาจัดแสดงให้ประชาชนชาวไทยได้ชม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งทรัพย์สินที่นำมาจัดแสดงเหล่านี้ยังไม่เคยนำไปจัดแสดงที่ใดมาก่อน โดยปกติจะถูกเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง อาทิ เงินตราโบราณ เงินพดด้วงสมัยทวารวดี สมัยฟูนัน สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา เพื่อแสดงพระราชอิสริยยศพร้อมด้วยทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ อีกมากมาย" นายเทวัญ ให้รายละเอียด

ด้าน น.ส.พจณี พรหมโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กล่าวว่า ทรัพย์สินทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงนั้น ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่จัดสร้างขึ้นด้วยงบประมาณของแผ่นดิน และทุกชิ้นล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และขุนนางชั้นสูง เพื่อตอบแทนในการทำคุณงามความดี ซึ่งจะต้องส่งคืนเมื่อพ้นตำแหน่งตามวาระ ทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ได้ผ่านการใช้งานจริงมาแล้วทั้งสิ้น

"ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินถูกเก็บรักษาอยู่ที่ห้องมั่นคง ของกรมพระคลังมหาสมบัติ จนเมื่อปี 2476 ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรมธนารักษ์ ซึ่งห้องมั่นคงของกรมพระคลังมหาสมบัติปัจจุบันคือ ห้องมั่นคงของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งมีทรัพย์สินมากกว่า 9 หมื่นชิ้น โดยงานนี้เลือกเฉพาะที่สำคัญๆ และอยู่ในสภาพดี มาจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น" น.ส.พจณี กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น