วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รู้จักน้ำตาเทียม


ความรู้เรื่องน้ำตาเทียม ภญ.อัมพร อยู่บาง เขียนบทความอรรถาธิบาย สรุปความว่า น้ำตาเทียม (artificial tears) ใช้หล่อลื่นดวงตาเพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง ที่จะมีอาการแสบตา ตาแดง เคืองตา รู้สึกแห้งฝืด บางครั้งมีขี้ตาเป็นเส้น ๆ เมือก ๆ ลืมตายาก อาการมักเป็นมากในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้น้ำตาระเหยง่าย เช่น แสงจัด ความร้อน ความชื้นต่ำ (ห้องปรับอากาศ) ควัน ลมแรง หรือใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ (เพราะต้องลืมตานาน ทำให้กะพริบตาลดลง) หากเป็นเรื้อรัง ขี้ตาเป็นเมือกติดแน่นที่กระจกตา ทำให้ผิวตาดำไม่เรียบ ติดเชื้อง่าย จะทำให้เกิดแผล ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดี จะทำให้แผลอักเสบถึงตาบอดได้

น้ำตาเทียมต่างจากน้ำตาธรรมชาติ ดังนี้ น้ำตาธรรมชาติ ในภาวะปกติน้ำตาสร้างมาจากต่อมน้ำตา ต่อมภายในเยื่อบุตา ต่อมบริเวณโคนขนตา ตลอดจนต่อมภายในหนังตา แต่ละต่อมสร้างน้ำตาต่างชนิดกัน โดยเรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นชั้นไขมัน มีหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำ ชั้นกลางเป็นน้ำ เป็นชั้นที่หนาที่สุด เป็นตัวที่ให้อาหารและออกซิเจนหล่อเลี้ยงแก้วตา ชั้นที่ชิดผิวตาเป็นชั้นเมือก มีหน้าที่ปรับสภาพของกระจกตา ทำให้น้ำตากระจายตัวได้อย่างรวดเร็วเวลากะพริบตา

น้ำตามีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตาขาว ปรับสภาพของกระจกตาให้เรียบ ทำให้เกิดการหักเหของแสงที่สม่ำเสมอ ทำ ให้มองเห็นชัด เจน ป้องกันการติดเชื้อของกระจกตา ชะล้างสิ่งแปลกปลอม เป็นแหล่งอาหารให้กับผิวดวงตา เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง จึงต้องอาศัยออกซิเจนจากอากาศและน้ำตาที่เต็มไปด้วยเกลือแร่ วิตามินเอ วิตามินอี สารต้านจุลชีพ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยให้ผิว ดวงตาอยู่ในสภาพปกติ หากขาดสารเหล่านี้พื้นผิวดวงตาจะแห้งและหลุดลอกได้ง่าย

น้ำตาเทียมเป็นสารสังเคราะห์ที่ถูกผลิตขึ้นให้คุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วน

1.hydrogel หรือ polymer ช่วยเพิ่มความหนืดให้น้ำตาเทียม เพื่อให้ฉาบอยู่ที่กระจกตานานขึ้น เพิ่มความสบายและความชุ่มชื่นให้กระจกตา แต่ถ้าน้ำตาเทียมยี่ห้อใดมีความหนืดมาก ก็จะทำให้ระยะเวลาที่น้ำตาเทียมฉาบอยู่บนกระจกตานานขึ้น อาจทำให้มี อาการตามัว มองไม่ชัดหลังหยอดตาระยะแรก

2.สารกันเสีย ช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพได้นาน และป้องกันการเติบโตของจุลชีพ ที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด

3.บัฟเฟอร์ (buffer) เป็นส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม 4.ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น glycine, magnesium chloride, sodium chloride, zinc, calcium chloride, sodium borate เพื่อให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด

4.การใช้น้ำตาเทียมไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงต่อดวงตา ในรายที่ไวหรือแพ้สารกันเสีย ซึ่งมีอยู่ในยาหยอดตาทุกชนิดที่เป็นขวดใหญ่ ก็เลือกใช้น้ำตาเทียมที่ปราศจากสารกันเสียซึ่งบรรจุอยู่ในหลอดขนาดเล็กที่ใช้ได้วันต่อวัน

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตาแห้ง การไปตรวจสุขภาพดวงตากับจักษุแพทย์อย่างละเอียดเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ควรซื้อน้ำตาเทียมมาใช้เองเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริงของอาการตาแห้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น