วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หายป่วย...ด้วยมือแม่


หายป่วย...ด้วยมือแม่ (Mother&Care)

ช่วงต้นปีอากาศดี ๆ แบบนี้ "ไข้หวัด" มักมาเยี่ยมเยือนเด็ก ๆ อยู่เสมอ ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบจะเป็นไข้ได้ง่าย เนื่องจากกลไกควบคุมอุณหภูมิร่างกายของเขายังทำงานได้ไม่ดีพอ การเป็นไข้ในเด็กเล็ก ๆ มักเกิดจากปฏิกิริยาโต้ตอบ ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อด้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ซึ่งกว่า 95 เปอร์เซ็นต์จะหายได้เองโดยไม่ต้องพึ่งยา แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ หากมีไข้สูงนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอทันทีค่ะ

แม่จ๋า...หนูไม่สบายตัว

นอกจากอาการไข้ตัวร้อน ที่บ่งบอกว่าลูกไม่สบายแล้ว คุณแม่ต้องสังเกตอาการอย่างอื่นที่บ่งชี้ว่า ลูกกำลังป่วยร่วมด้วย เพราะบางครั้งเด็กไม่สบายก็ไม่ได้มีอาการตัวร้อนก่อน ถ้าลูกไม่ร่าเริง ง่วงซึมตลอดเวลา ไม่ยอมดูดนมตามปกติ ปฏิเสธอาหารเสริมที่เคยชอบ โยเย ร้องกวนมาก หรือร้องเสียงสูงๆ แสดงอาการหงุดหงิด โมโห กระสับกระส่าย ก็อาจเป็นสัญญาเดือนว่ามีอะไร บางอย่างผิดปกติที่ทำให้ไม่สบายตัวแล้วล่ะค่ะ

การวัดไข้เด็ก

1. กรณีใช้แถบวัดไข้เด็ก ควรทำความสะอาดหน้าผากลูกด้วยการใช้ผ้าขนหนูเช็ดเบา ๆ ก่อน

2. จากนั้นติดแถบวัดไข้เด็กบริเวณกลางหน้าผากลูกโดยใช้นิ้วกดที่ปลายทั้งสองด้านไว้ รอประมาณ 30 วินาที แล้วดูว่าแถบสีเขียวขึ้นที่ตัวเลขใด

3. อีกวิธีหนึ่งที่สะดวกคือการใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล ซึ่งวัดได้รวดเร็วอ่านค่าได้ง่าย

4. กรณีวัดไข้ทางรักแร้ ให้สอดปรอทวัดไข้ไว้ที่รักแร้ของลูก แล้วจับที่ข้อศอกเขาไว้ให้แขนแนบชิดกับลำตัว รอจนมีเสียงปิ๊บเตือนจึงอ่านค่า

การป้อนยาด้วยกระบอกฉีดยาพลาสติก (Syringe)

5. กระบอกฉีดยาพลาสติกมีหลายขนาด ตั้งแต่ 1, 3, 5 ไปจนถึง 10 ซีซี

6. ข้อดีของการใช้กระบอกฉีกยาคือ มีขีดบอกปริมาตรที่ละเอียดแม่นยำ ทำให้สามารถดูดยาได้ตรงตามปริมาณที่ต้องการ

7. วิธีการอุ้มเด็กไว้ในวงแขน ค่อย ๆ ฉีดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้มด้านใดด้านหนึ่งของลูก ไม่ควรฉีดเข้าตรงกลางปากเพราะลูกจะสำลักยาได้ง่าย ควรป้อนช้า ๆ รอจนกว่าลูกจะกลืนยาหมด

คุณหมอประจำบ้าน

การพาลูกไปพบแพทย์เมื่อลูกไม่สบายเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถึงลูกจะได้พบแพทย์แล้ว ได้ยามาทานแล้ว แต่การดูแลเขายังคงเป็นหน้าที่ของคุณแม่อยู่ดี ยิ่งในเด็กเล็ก ๆ แม้เพียงไข้หวัดก็อาจทำให้เขาไม่สบายตัวได้ถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว

ระหว่างนี้คุณแม่ต้องคอยป้อนยาให้เขาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ถ้าลูกป่วยเนื่องจากหวัด เวลานอนก็ควรจัดให้ลูกหนุนหมอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าตัวเล็กน้อย เพื่อให้เขาหายใจได้สะดวกขึ้น และหมั่นเช็ดตัวเพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้เขาด้วยค่ะ

และสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการดูแลลูกยามเจ็บป่วย ซึ่งคุณหมอที่โรงพยาบาลช่วยไม่ได้ ก็คือการสร้างความอุ่นใจให้ลูก คุณแม่คงเป็นคนพิเศษคนเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ได้

หายป่วย...ด้วยมือแม่

ยามลูกไม่สบายเขาต้องการความอบอุ่นจากคุณแม่มากเป็นพิเศษ การสัมผัสอย่างอ่อนละมุนของแม่ อย่างการอุ้มพร้อมโยกตัวเบา ๆ หรือแม้เพียงการวางมือลงบนตัวลูกแล้วลูบไล้ ก็ช่วยให้ลูกรู้สึกสบายตัวขึ้นได้

นอกจากนี้ระหว่างที่ลูกป่วย คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกให้บ่อยขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะไม่เข้าใจที่คุณพูด เพราะทารกสามารถจดจำเสียงของแม่ได้ตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องแล้ว เสียงของคุณจึงเป็นเสียงแห่งความคุ้นเคยที่สร้างความสบายใจให้ลูกได้เป็นอย่างดี การพูดคุยกับลูก แม้เขาจะยังไม่สามารถเข้าใจหรือคุยบอกเล่าความไม่สบายกายของเขาออกมาให้คุณรับรู้ได้ แต่เชื่อเถอะว่า เขาจะมีความสุข และรู้สึกผ่อนคลายความเครียดจากการเจ็บป่วยลงได้

ดื่มยาจากถ้วย

8. ยาน้ำสำหรับเด็กมักมีถ้วยตวงยามาให้ในกล่องยา โดยอาจมีขีดบอกปริมาตรเทียบเป็นช้อนชา เช่น ¼, ½, ¾ ช้อนชา หรือบางยี่ห้อก็ระบุเป็นซีซี ก่อนให้เด็กดื่มควรตรวจสอบปริมาตรยาให้พอดีกับที่ฉลากยาระบุไว้

9. ยาบางชนิดมีรสชาติขมเฝื่อน ถ้าขมมากคุณแม่สามารถเติมน้ำสะอาด หรือน้ำหวานลงไปเพื่อให้มีรสชาติอ่อนลงเด็กจะรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรผสมยากับนม

10. การประคองลูกอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้เขายอมดื่มยาได้ง่ายขึ้น

การใช้หลอดหยดยา

11. การป้อนยาลูกด้วยหลอดหยดยา ต้องบีบที่หัวยางด้านบนของหลอดหยดยาเพื่อไล่อากาศออกก่อน จุ่มหลอดหยดลงในยา ค่อย ๆ ปล่อยให้ยาถูกดูดขึ้นมาจนได้ปริมาตรที่กำหนด ถ้าเกินให้บีบออก

12. ข้อควรระวังในการใช้หลอดหยดยาคือ เวลาดูดยาต้องไม่ให้มีฟองอากาศเข้าไปในหลอดหยด เพราะจะทำให้ปริมาณยาที่ดูดเข้าไปไม่ตรงตามความต้องการ

13. ใช้วิธีเดียวกับการป้อนยาด้วยกระบอกฉีดยา คือ อุ้มลูกไว้ในวงแขน ค่อย ๆ หยดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้มด้านใดด้านหนึ่งของลูกช้า ๆ

ช้อนป้อนยา

14. ช้อนป้อนยามักมาในกล่องยา ทำให้มีรูปร่างสีสัน และขีดบอกปริมาตรแตกต่างกันออกไป จึงควรอ่านฉลากยาและสังเกตขีดที่ช้อนก่อนทุกครั้ง

15. เด็กที่เคยรับประทานยากที่มีรสชาติหวานดื่มง่ายอาจยอมรับประทานยาจากช้อนแต่โดยดี แต่ถ้าเขาไม่ยอมคุณแม่อาจรินยาใส่ช้อนแล้วใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกดูดยาป้อนให้ลูก หรือจะเทียบปริมาตร ดังนี้

1/4 ช้อนชา = 1.25 ซีซี

1/3 ช้อนชา = 1.70 ซีซี

1/2 ช้อนชา = 2.50 ซีซี

3/4 ช้อนชา = 3.75 ซีซี

1 ช้อนชา = 5 ซีซี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น