วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประเทศเยอรมัน


ลักษณะภูมิประเทศและที่ตั้ง



สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือเรียกสั้นๆ ว่าเยอรมันหรือเยอรมนี ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป ล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านถึง 9 ประเทศ คือเดนมาร์กอยู่ทางเหนือเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสอยู่ทางตะวันตก สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรียอยู่ทางใต้ สาธารณรัฐเชคและโปแลนด์อยู่ทางตะวันออก นับเป็นประเทศยุโรปที่มีจำนวนเพื่อนบ้านมากที่สุด

นับตั้งแต่มีการรวมประเทศในปี ค.ศ. 1990 เยอรมันกลายเป็นประเทศสำคัญที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวเชื่อมยุโรปตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน แต่ยังเชื่อมประเทศทางตอนเหนือ คือ กลุ่มสแกนดิเนเวียกับกลุ่มประเทศทางตอนใต้ ซึ่งอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกด้วย เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป เยอรมันจึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างประเทศในยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก ยิ่งกว่านั้นการที่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป ยังทำให้เยอรมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการท่องเที่ยวแถบนี้

เยอรมันมีพื้นที่ประมาณ 357,000 ตารางกิโลเมตร พรมแดนทางตอนเหนือของประเทศติดกับฝั่งทะเลเหนือ (North Sea) และทะเลบัลติค ทางตอนใต้จรดเทือกเขาแอลป์ในบาวาเรียน ระยะทางส่วนที่ยาวที่สุดจากเหนือจรดใต้ประมาณ 876 กิโลเมตร จากตะวันตกไปตะวันออกประมาณ 640 กิโลเมตร ภูมิประเทศของเยอรมันมีทิวทัศน์งดงามแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ ทั้งเทือกเขาสูงต่ำสลับกับที่ราบสูงและพื้นที่ลดหลั่นเป็นชั้น เนินเขาทะเลสาปตลอดจนที่ราบโล่งกว้างใหญ่ ทางตอนเหนือเป็นแนวชายฝั่งทะเลเต็มไปด้วยเกาะแก่ง ทะเลสาบ ท้องทุ่งที่มีพุ่มไม้ปกคลุม เนินทราย และบริเวณปากแม่น้ำที่สวยงาม ส่วนทางตอนใต้แถบที่ราบสูงชวาเบียน-บาวา เรียงเต็มไปด้วยเนินเขาและทะเลสาปขนาดใหญ่ มีบริเวณครอบคลุมถึงเทือกเขาแอลป์ในส่วนของเยอรมัน

ลักษณะภูมิอากาศและฤดูกาล

ลักษณะอากาศของเยอรมันเป็นแบบค่อนข้างไปทางหนาวเย็น มี 4 ฤดู คือ

ฤดูร้อน (มิถุนายน – สิงหาคม) อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 18 – 20 องศาเซลเซียส แต่อาจจะสูงขึ้นถึง 30 องศา หรือสูงกว่า
ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน – พฤศจิกายน) อากาศจะเย็นลงและมีฝน ใบไม้จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองบ้าง สีแดงบ้างดูสวยงาม
ฤดูหนาว (ธันวาคม – กุมภาพันธ์) อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 5 องศา ถึง ลบ 5 องศาเซลเซียส โดยจะมีหิมะตกบ้าง
ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม – พฤษภาคม) อากาศจะอุ่นขึ้น ดอกไม้เริ่มบานและต้นไม้จะแตกใบอ่อน นำความเขียวขจีกลับมาอีกครั้ง

เวลา
การแบ่งเวลาของเยอรมันเป็นแบบยุโรปตอนกลาง ซึ่งเวลาจะช้ากว่าประเทศไทย 6 ชม. ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ส่วนในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม เวลาจะช้ากว่าประเทศไทย 5 ชม.

ประชากร
เยอรมันมีประชากรประมาณ 82 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากรัสเซีย ในจำนวนนี้ 7.3 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพมาจากตุรกี ยุโรปตอนใต้และยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มเข้ามาตั้งแต่ช่วงหลัง ค.ศ.1960 ซึ่งนับมาถึงปัจจุบันก็เป็นรุ่นที่ 2 และ 3 แล้ว

ชาวเยอรมันสืบเชื้อสายมาจากเผ่าพันธุ์เยอรมันดั้งเดิมหลายเผ่า เช่น เผ่าซัคเซน และบาวาเรียน ซึ่งปัจจุบันเราจะไม่เห็นความแตกต่างนี้แล้ว แต่ยังมีคนเยอรมันบางกลุ่มที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมและพูดภาษาเผ่าดั้งเดิมของตน โดยใช้เป็นภาษาถิ่นต่างๆ กันไป การหลั่งไหลเข้ามาของชาวต่างชาติก่อให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเมืองใหญ่ๆ

เยอรมันเป็นสังคมเปิด กล่าวคือ ยอมรับผู้คนซึ่งอพยพเข้ามาหาที่หลบภัยและผู้อพยพหนีสงคราม การให้มีการเปิดเสรีสำหรับผู้ใช้แรงงาน การเป็นกลุ่มผู้นำ ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพและเลือกถิ่นที่อยู่ภายในสหภาพยุโรป

ศาสนา
ชาวเยอรมันกว่า 55 ล้านคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ โดยมีนิกายโปแตสแตนท์ มีผู้นับถือประมาณ 27.6 ล้านคน นิกายโรมันคาทอลิก 27.5 ล้านคน เยอรมันไม่มีศาสนาประจำชาติ การมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน ทำให้มีชุมชนที่นับถือศาสนาอื่นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลาม ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอิสลามในเยอรมันประมาณ 2.6 ล้านคน จาก 41 ชาติทั่วโลก นอกจากนั้นก็มีผู้นับถือศาสนายิว ฮินดู และพุทธ

ระบบการเมือง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อระบบเผด็จการนาซีล่มสลาย มีการแบ่งเยอรมันออกเป็น 2 ประเทศในปี ค.ศ.1949 คือ เยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก (ซึ่งประเทศทั้ง 2 ได้รวมเป็นเอกภาพเมื่อปี ค.ศ. 1990) ประกอบด้วยประธานาธิบดีสหพันธ์ (President) มีรัฐสภาซึ่งแบ่งเป็น สภาสูง (Bundestag) และสภาล่าง (Bundesrat) หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี (Chancellor) สิ่งที่น่าภาคภูมิใจในรัฐธรรมนูญเยอรมันก็คือ การระบุความสำคัญของสิทธิพื้นฐาน คนเยอรมันนับถือในเกียรติของความเป็นมนุษย์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเยอรมันไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตามสามารถเรียกร้องสิทธิพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทรัพย์สิน และเสรีภาพทางหนังสือพิมพ์ การเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะทำได้โดยไม่มีการเซ็นเซอร์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เยอรมันเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมก่อตั้งสหภาพยุโรปและการออกเงินตราของสหภาพยุโรป และเป็นสมาชิกขององค์กรนาโต้ (NATO) ในปี ค.ศ. 1990 เยอรมันตะวันออกซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน และปกครองแบบสังคมนิยมได้รวมประเทศเข้ากับเยอรมันตะวันตกกลายเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในปัจจุบัน

การปกครอง
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประกอบด้วย 16 รัฐ คือ บาเดน-เวือร์เทมแบร์ก บาวาเรีย เบอร์ลิน บรันเดนบวร์ก เบรเมน ฮัมบวร์ก เฮลเซน นีเดอร์ซัคเซน เมคเคลนบวร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น นอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลน ไรน์ลันฟัลส์ ซาร์ลันด์ ซัคเซน ซัคเซน-อันฮัลท์ ชเลสวิก-โฮลชไตน์ และเธือริงเงน แต่ละรัฐมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง โดยสภาผู้แทนแห่งรัฐมาจากการได้รับเลือกตั้งของสมาชิกพรรคต่างๆ ในรัฐนั้นๆ และสามารถออกกฎหมายใช้เองภายในรัฐได้ เช่น ระบบการศึกษารวมถึงระดับอุดมศึกษาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของแต่ละรัฐ

เมืองที่น่ารู้จัก
คนเยอรมัน 26 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร อาศัยอยู่ใน 86 เมืองใหญ่ๆ ซึ่งประชากรกว่า 100,000 คนขึ้นไป ศูนย์กลางในทางเศรษฐกิจวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมจึงไม่ได้จำกัดอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียว โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงแสดงคอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ สถาบันศิลปะ ห้องสมุด มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ศูนย์การค้า จะมีหลากหลายกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ และแต่ละเมืองจะมีลักษณะเฉพาะของตน

กรุงเบอร์ลิน(Berlin) เมืองหลวงของประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เป็นเมืองใหญ่สุด มีประชากร 3.5 ล้านคน เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรม มีโรงละคร โรงแสดงคอนเสิร์ตวงดนตรีขนาดใหญ่ที่เรียกว่า วงออเคสตร้า พิพิธภัณฑ์ และเวทีแสดงศิลปะและดนตรีที่มีชื่อเสียง มีสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 11 แห่ง วิทยาลัยศิลปะและดนตรีอีก 6 แห่ง นับเป็นเมืองที่มีสถาบันอุดมศึกษามากที่สุดในเยอรมัน

ฮัมบวร์ก(Hamburg) เป็นเมืองท่าเรือสำคัญ มีประชากร 1.7 ล้านคน 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นชาวต่างชาติ เมืองนี้จึงมีบรรยากาศของความเป็นสากล นอกจากนี้ยังเป็นเมืองศูนย์กลางการสื่อสารมวลชน ผลิตหนังสือพิมพ์และนิตยสาร 17 ใน 24 ฉบับของเยอรมันที่มียอดจำหน่ายกว่า 1 ล้าน มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง และสถาบันการศึกษาระดับสูงอีกหลายสถาบัน

มิวนิค(München) เมืองมิวนิคเป็นเมืองหลวงของรัฐบาวาเรีย มีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน เป็นเมืองที่มีหอศิลปะ สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง งานมหกรรมใหญ่ประจำปีที่ทั่วโลกรู้จักคือ Oktoberfest เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น BMW และ ซีเมนส์ บริษัทที่ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และสถาบันวิจัยอีกหลายแห่ง มีมหาวิทยาลัย 3 แห่ง และสถาบันการศึกษาระดับสูงอีก 8 แห่ง

แฟรงค์เฟิร์ต ไมน์ (Frankfurt) ประตูสู่ยุโรป เป็นศูนย์กลางท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมัน มีประชากร 650,000 คน เป็นแหล่งการเงินนานาชาติและตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารกลางของยุโรป สำนักงานใหญ่ของธนาคารหลายแห่งอยู่ที่เมืองนี้ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของหอสมุดแห่งชาติและงานแสดงหนังสือนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โคโลญจ์ เมืองนี้ประกอบด้วยโบสถ์สวยงามมากมาย มีประชากรประมาณ 1,000,000 คน เป็นเมืองเก่ากว่า 2,000 ปี และยังเป็นศูนย์กลางศิลปะ ดนตรี ร่วมสมัย มหาวิทยาลัยโคโลญจ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1388 ปัจจุบันมีนักศึกษามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงอื่น ๆ อยู่เกือบแสนคน

ไลป์ซิก(Leipzig) มีประชากรประมาณ 470,000 คน เคยเป็นเมืองสำคัญสำหรับจัดงานแสดงสินค้ามาหลายร้อยปีแล้ว เมื่อมีการรวมประเทศ เมืองนี้จึงกลับมามีบทบาทสำคัญทางการค้ากับทั่วโลกมากขึ้น มหาวิทยาลัยของเมืองนี้ ก่อตั้งมากว่า 600 ปี และเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง

บอนน์ (Bonn) มีประชากรประมาณ 300,000 คน เคยเป็นเมืองหลวงของเยอรมันตะวันตก แม้ว่าหลังการร่วมประเทศ เมื่อปี ค.ศ.1990 เบอร์ลินจะกลายเป็นเมืองหลวงของประเทศ แต่สถานที่ราชการหลายแห่งยังคงอยู่ที่เมืองนี้ รวมทั้งองค์กร และสถาบันต่าง ๆ เช่น องค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (German Academic Exchange Service) และสภาวิจัยของเยอรมัน (DFG) มหาวิทยาลัยของเมืองนี้มีนักศึกษาประมาณ 40,000 คน

เมืองที่น่าสนใจอื่นๆ มีอีกหลายเมือง เช่น ฮันโนเวอร์ (Hannover) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการแสดงสินค้าอุตสาหกรรม, สตุ๊ทการ์ท (Stuttgart) ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเมืองไวมาร์ (Weimar) ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

การศึกษาต่อในประเทศเยอรมัน

ระบบการศึกษา
ในปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนนักศึกษาทั้งหมด ประมาณ 12.6 ล้านคน ที่ประเทศมีครูอาจารย์ทั้งหมด ประมาณ 780,000 คน ตามที่โรงเรียนสถานศึกษากว่า 52,000 แห่งในเยอรมัน

การศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่อายุ 6 – 18 ปี รวมการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 12 ปี ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องเรียนหลักสูตรภาคบังคับแบบเต็มเวลานี้อย่างน้อย 9 ปี (ในบางรัฐ 10 ปี) หลังจากนั้นนักเรียนสามารถเลือกเรียนหลักสูตรสายอาชีพหรือฝึกงาน ซึ่งเป็นการเรียนแบบไม่เต็มเวลาได้ โรงเรียนเอกชนในเยอรมันมีไม่กี่แห่งที่ดำเนินการโดยนักสอนศาสนา

โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐบาล เรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน หนังสือและตำราเรียนมักมีให้นักเรียนยืมไม่ต้องซื้อ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ของส่วนตัวก็จะให้ผู้ปกครองบริจาคเงินตามกำลังทรัพย์ที่มี เมื่อนักเรียนอายุ 6 ปี จะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นเวลา 4 ปี หลังจากจบประถมศึกษาแล้วจึงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน

Secondary General School (Houptschule) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ให้การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป วิชาที่สอน ได้แก่ ภาษาเยอรมัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ สังคมวิทยา ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) และวิชาแนะนำวิชาชีพ เวลาเรียน 6 ปี หลังจบนักเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อเป็นประตูสู่การศึกษาสายวิชาชีพ

Intermediate School (Realschule) เป็นโรงเรียนที่อยู่ระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ให้การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป (Secondary General School) กับโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นวิชาการ (Grammar School) หลักสูตรส่วนใหญ่จะเน้น วิชาพื้นฐานทั่วไป หลังจบหลักสูตร 6 ปี แล้วจะได้ประกาศนียบัตรเพื่อศึกษาต่อไปในระดับที่สูงขึ้น เช่น โรงเรียนอาชีวะ ที่ต้องเรียนเต็มเวลา ประมาณ 40% ของผู้จบโรงเรียนมัธยมจะได้ประกาศนียบัตรแบบนี้

Grammar School (Gymnasium) เป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 9 ปี เป็นการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ และเมื่อเรียนในระดับ เกรด 11 – 13 วิธีการเรียนจะแบ่งเป็นการเลือกกลุ่มวิชา (Course) ที่ถนัด เพื่อเน้นบางสาขาวิชาโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหลังจากจบเกรด 13 แล้ว

Comprehensive School (Gesamtshule) เป็นการผสมผสานการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมทั้ง 3 ประเภท เข้าด้วยกันภายใต้การบริหารหนึ่งเดียว นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่เกรด 5 ถึง เกรด 10 และจะเริ่มเรียนวิชาเฉพาะทาง ในระดับเกรด 7 บางกลุ่มวิชาจะมีการแบ่งการเรียนออกเป็นกว่า 11 ระดับ แล้วแต่ความยากง่าย

ข้อมูลทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูง
วิทยาศาสตร์ การวิจัยค้นคว้า และการศึกษาในเยอรมันมีการสืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน สถานศึกษาหลายแห่งในเยอรมัน มีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่าหลายศตวรรษ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมันอยู่ที่เมืองไฮเดลแบรก์ (Heldelberg) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1386 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มหาวิทยาลัยในเยอรมันเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันหันมาพัฒนาการศึกษาและการวิจัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรวมประเทศ มีมหาวิทยาลัยเกือบ 120 แห่ง และสถาบันเทียบเท่ามหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคนิค มากกว่า 200 แห่ง กระจายทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีสถาบันการศึกษาชั้นสูง เช่น มหาวิทยาลัยเน้นภาคปฏิบัติ (Fachhochschule) มหาวิทยาลัยศิลปะการดนตรีและภาพยนตร์ เป็นต้น

สถาบันการศึกษาระดับสูงส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล มีไม่กี่แห่งที่ดำเนินการโดยนักสอนศาสนาคริสต์และกองทุนเอกชน ซึ่งเป็นสถาบันที่สอนด้านเทคโนโลยี กฎหมาย และบริหารธุรกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐบาลเปิดรับนักศึกษาทุกเชื้อชาติเรียนฟรี ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แม้กระทั่งนักศึกษาเยอรมันก็ได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียนโดยรัฐบาลเยอรมัน

จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมดเกือบ 2 ล้านคนในสถาบันอุดมศึกษาในเยอรมัน มีนักศึกษาประมาณ 140,000 คน ที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นักศึกษาต่างชาติประมาณ 9,400 กว่าคน กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาต่างๆ ประมาณ 1,600 คน ศึกษาในหลักสูตรพิเศษเฉพาะทางและในระดับปริญญาเอกมีประมาณ 2,700 คน สำหรับหลักสูตรนานาชาติที่นักศึกษาสนใจเรียนเป็นพิเศษมีมากกว่า 500 หลักสูตร ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษบางส่วนหรือสอนเป็นภาษาอังกฤษ ตลอดทั้งหลักสูตรและมีโครงสร้างตามระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอังกฤษ-อเมริกัน

ค่าใช้จ่าย

ค่าเล่าเรียน

เนื่องจากสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่สนับสนุนโดยรัฐ สถาบันการศึกษาจึงไม่เก็บค่าเล่าเรียน รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติด้วย แต่อาจมีบางสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีการเรียกเก็บค่าเรียน ซึ่งจะมีตั้งแต่ภาคเรียนละ 10,000 บาท ไปจนถึง 180,000 บาท สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน ค่าเล่าเรียนอาจจะสูงถึง 300,000 บาทต่อภาคเรียน

ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับค่าเล่าเรียนนั้น มหาวิทยาลัยเยอรมันเก็บค่าธรรมเนียม (Administrative Fee) ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก และอาจจะรวมค่าตั๋วโดยสารประจำทางด้วย ค่าธรรมเนียมนี้จะประมาณ 1,000 – 4,000 บาท ต่อภาคเรียน ซึ่งอาจจะสอบถามได้จากมหาวิทยาลัยโดยตรง
ค่าครองชีพ

ค่าครองชีพของนักศึกษาต่างชาติในเยอรมันจะเป็นคนละประมาณ 25,000 – 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะรวมค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าประกันสุขภาพ ค่าหนังสือ และค่าพักผ่อนหย่อนใจ นักศึกษาทุกคนต้องมีประกันสุขภาพ ซึ่งมีอัตราพิเศษสำหรับนักศึกษาต่างชาติ สำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน 30 ปี จะอยู่ในโครงการประกันแบบอื่น ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยโรคเรื้อรังบางอย่าง จะต้องอยู่ในโครงการประกันสุขภาพที่พิเศษแตกต่างออกไป

ข้อมูลจำเพาะ

ศุลกากร
สามารถจะนำเงินหรืออื่นๆ ที่ใช้แทนเงินสดเข้าเยอรมนีได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 15,000 ยูโร
ของขวัญ อาหารไม่ต้องเสียภาษี หากนำเข้าในปริมาณที่เหมาะสม และเป็นไปเพื่อการบริโภคโดยส่วนตัว
การนำเข้าเหล้า บุหรี่ น้ำหอม จากประเทศในกลุ่ม EU เป็นไปโดยเสรี แต่อาจจะต้องพิสูจน์ว่านำมาเพื่อใช้บริโภคส่วนตัว

คนไทยในเยอรมนี
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 คนไทยที่มีถิ่นพำนักอยู่อย่างถูกต้อง มีจำนวน 50,000 คน ประมาณว่าคนไทยที่อยู่ในเยอรมนี ทั้งถูกและผิดกฎหมายรวมไม่ต่ำกว่า 70,000 คน อาหารไทยเป็นที่นิยมของชาวเยอรมัน จึงมีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ทุกเมือง อาทิ ในเบอร์ลินมีประมาณ 80-100 ร้าน

การเช่าบ้าน
ส่วนมากบ้านพักหรืออพาร์ทเม้นท์ในเยอรมนีจะไม่มีเครื่องเรือนติดมาด้วย การหาบ้านพักอาจจะทำได้ทั้งโดยผ่านนายหน้า (คิดค่านายหน้าในอัตรา 2-3 เดือนของค่าเช่า) และหาจากหนังสือพิมพ์

ไฟฟ้า
ระบบโทรทัศน์และวีดีโอ ระบบ PAL 220 โวลท์ ปลั๊กไฟเป็นระบบกลมสองขา ถ้าติดตั้งดาวเทียมสามารถรับสัญญาณภาพจากสถานีโทรทัศน์ช่องห้าได้

โทรศัพท์
มีทั้งระบบหยอดเหรียญและใช้บัตร การโทรศัพท์มายังประเทศไทย ให้หมุนเลข 0066+รหัสจังหวัดของไทย โทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายมาก และมีบริษัทที่ให้บริการและข้อเสนอเกี่ยวกับการบริการมากมาย ขึ้นอยู่กับความต้องการและระยะเวลาที่จะใช้

โทรศัพท์มือถือ ค่าเช่าเครื่องครั้งแรก 1-25 มาร์ก และจ่ายค่าบริการเดือนละ 20-30 มาร์กหรือ ใช้การซื้อเด็ดขาดพร้อมการ์ด หากการ์ดหมดก็ซื้อมาเติมโทรศัพท์มือถือต่อไป

การคมนาคม
ทางอากาศ ราคาค่าตั๋วบินภายในประเทศแพงมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการมากมาย ราคาค่าตั๋วของสายการบินเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่า ซื้อตั๋วก่อนล่วงหน้าการเดินทางนานเท่าใด โดยสามารถกระทำได้ทางอินเตอร์เน็ต
ทางรถยนต์ ทางด่วนมีความสะดวกมาก และเชื่อมเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศและไม่คิดค่าผ่านทาง
ทางรถไฟ สะดวก และรวดเร็วกว่ารถยนต์ อัตราค่าโดยสารรถไฟชั้นสอง ราคาอย่างถูกที่สุดอยู่ที่ประมาณ 111 ยูโร แต่ปัจจุบันสามารถซื้อตั๋วรถไฟได้ในราคาที่ถูกและเหมาะสม โดยต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนการเดินทางอย่างน้อย 3 วัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สำหรับนักศึกษา สถานที่ติดต่อ
สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ดูแลเยอรมัน
28 Princess Gate London SW7 1 GF, Great Britain
โทร. (44 20) 758 445 38
โทรสาร (44 20) 7823 9896

สมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนีในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่อยู่เดียวกับสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเบอร์ลิน แต่ให้วงเล็บว่า Thai Student-Verein in Deutschland

การขอวีซ่าเยอรมัน (Germany Visa)

การขอวีซ่า

นักศึกษาที่ประสงค์จะไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี ต้องมายื่นคำร้องขอวีซ่าด้วยตนเอง พร้อมแสดงหลักฐาน (ตัวจริงและสำเนาอย่างละ 2 ชุด) ดังต่อไปนี้

แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าที่กรอกเรียบร้อย 2 ชุด (ติดต่อขอรับแบบฟอร์มได้ที่สถานฑูตฯ หรือจาก website www.german-embassy.or.th ภายใต้หัวข้อแผนกกงสุลและวีซ่า
หนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
รูปถ่ายขนาดสำหรับติดหนังสือเดินทาง (2 นิ้ว) จำนวน 2 รูป
รายงานผลการตรวจสุขภาพเป็นภาษาอังกฤษ (ควรเป็นโรงพยาบาลของรัฐ)
หนังสือตอบรับให้เข้าศึกษาของสถาบันการศึกษา หรือหนังสือรับรองการสมัครเข้าศึกษาจากสถาบันการศึกษา (กรณีได้รับทุนการศึกษา) จำเป็นต้องแสดงเอกสารว่าท่านได้รับทุนการศึกษา
ท่านที่ประสงค์จะไปเรียนภาษาเยอรมัน จะต้องแสดงหลักฐานการสมัครเข้าเรียนภาษาจากทางสถาบันศึกษา (ไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์)
ท่านที่ประสงค์จะไปฝึกงาน/ฝึกอบรม จะต้องแสดงหนังสือสัญญาการรับเข้าฝึกงาน/ฝึกอบรม
หลักฐานหรือหนังสือรับรองฐานะทางการเงินจากธนาคาร เป็นภาษาอังกฤษ (Bank Statement) ซึ่งประเทศเยอรมนี ระบุชื่อเจ้าของบัญชีและชื่อนักศึกษา

หมายเหตุ
นักเรียน/นักศึกษาที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีหนังสือยินยอมให้เดินทางออกนอกประเทศได้จากผู้ปกครองที่ออกโดยหน่วยงานราชการ

เอกสารที่นำมายื่นจะต้องเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาเยอรมันเท่านั้น

สถานฑูตฯ มีสิทธิ์ที่จะเรียกเอกสารอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้นเพิ่มเติม อีกทั้งสามารถเรียกเอกสารหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา

วีซ่าศึกษา ใช้ได้เฉพาะในประเทศเยอรมนีเท่านั้น และไม่สามารถทำงานได้ ยกเว้นช่วงปิดเทอม

สถานฑูตฯ จะส่งคำร้องขอวีซ่า พร้อมเอกสารประกอบคำร้องทั้งหมดไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศเยอรมนี ณ เมืองที่ท่านประสงค์จะไปศึกษา เพื่อเสนอพิจารณาอนุมัติ และสถานฑูตฯ จะออกวีซ่าให้ได้ต่อเมื่อได้รับคำตอบอนุมัติจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้วเท่านั้น ดังนั้นการดำเนินการขอวีซ่าประเภทนี้อาจใช้เวลา 6 ถึง 8 สัปดาห์ โดยประมาณ ในบางกรณีอาจจะใช้เวลาดำเนินการมากกว่านี้ก็เป็นได้ ทั้งนี้สถานฑูตฯ จะแจ้งผลวีซ่าให้ท่านทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่งไปยังที่อยู่ที่ได้ให้ไว้กับทางสถานฑูตฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น