วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประเทศกรีซ



ที่ตั้งและอาณาเขต กรีซตั้งอยู่ทางยุโรปตอนใต้ โดยอยู่ทางตอนใต้ของแหลมบอลข่าน และทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศเหนือจรดแอลเบเนีย ยูโกสลาเวีย และบัลแกเรีย ทิศตะวันออกจรดตุรกี และทะเลอีเจียน ทิศใต้จรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตกจรดทะเลไอโอเนียน

พื้นที่ 132,000 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 50,961 ตารางไมล์)
เป็นหมู่เกาะ 3,000 เกาะ

ภูมิอากาศ สภาพอากาศโดยทั่วไปปกติมีอุณหภูมิสบายๆ ในฤดูหนาว อากาศหนาวเล็กน้อย ในฤดูร้อน อากาศร้อนและแห้ง

ประชากร 11.2 ล้านคน (2550)

ภาษา ภาษากรีก (ภาษาราชการ) และอื่นๆ (อังกฤษ และฝรั่งเศส)

ศาสนา คริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ (ร้อยละ 98) อิสลาม (ร้อยละ 1.3) และอื่นๆ (ร้อยละ 0.7)

เมืองหลวง กรุงเอเธนส์ (Athens)

เมืองสำคัญ 1. เทสซาโลนิกิ (Thessaloniki) เป็นเมืองท่าและเมืองที่ใหญ่เป็นลำดับสอง อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
2. พาทราส (Patras) เป็นเมืองใหญ่อันดับสามและเมืองท่าทางตะวันตกของประเทศ
3. พิเรอุส (Piraus) เป็นเมืองท่าสำคัญ
นอกจากนั้นยังมีเมือง ลาริสสา (Larissa) อิราคลิออน (Iraklion)

สกุลเงิน ยูโร (Euro – EUR)
1 ยูโร = 47.15 บาท (ณ วันที่ 20 ม.ค. 2010)


วันชาติ 25 มีนาคม

หมายเหตุ สาธารณรัฐเฮลเลนิก เป็นชื่ออย่างเป็นทางการที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ และใช้มาตั้งแต่ปี 2372 ซึ่งเป็นปีที่กรีซได้รับเอกราชจากจักรวรรดิออตโตมัน มีที่มาจากเทพธิดากรีซ "นางเฮเลน" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากเทพนิยายสงครามกรุงทรอย ดั้งเดิมเป็นชื่อที่ใช้เรียกประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง Hellas ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นตามชื่อของนางเฮเลน และต่อมาได้ขยายใช้เรียกประชากรเป็นการทั่วไป และในภาษากรีกปัจจุบัน เรียกประเทศของตนเองว่า Ellas (มาจากคำว่า Hellas)
ในสมัยโบราณดินแดนที่เป็นประเทศกรีซ ถูกแบ่งออกเป็นหลายชนเผ่า ชื่อที่รู้จักเป็นการทั่วไปในปัจจุบันว่า ประเทศ Greece ในภาษาอังกฤษ มาจากคำภาษาลาตินว่า Graecia ซึ่งเป็นชื่อที่ดั้งเดิมใช้เรียกดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรีซในปัจจุบัน และเรียกชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ว่า Graekos
การเมืองการปกครอง
ระบบการเมือง สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา (สภาเดียว) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข (Presidential Parliamentary Republic)

ประมุข (ประธานาธิบดี) นาย Karolos PAPOULIAS ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 (ครั้งเเรกเมื่อ 12 มีนาคม 2548 และครั้งล่าสุดเมื่อ 3 ก.พ. 53) ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปี

นายกรัฐมนตรี นาย George Papandreou เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 52 โดยกรีซมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ต.ค. 52
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย George Papandreou (นาย Papandreou ดำรงตำแหน่ง นรม. ควบคู่กับตำแหน่ง รมว.กต.)

สถาบันและระบบทางการเมือง
-ประธานาธิบดี ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภา โดยต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รัฐสภาอาจจะกล่าวโทษประธานาธิบดี ถ้ามีผู้สนับสนุนไม่ต่ำกว่าจำนวน 1 ใน 3 และต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ในการผ่านญัตติ ประธานาธิบดีอาจจะยุบสภาได้ด้วยคำแนะนำของคณะรัฐบาลหรือความยินยอมของสภาแห่งสาธารณรัฐ (Council of the Republic)
- รัฐสภา ประกอบด้วยผู้แทน 300 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยทางตรง
(the Hellenic Parliament) มีวาระ 4 ปี
- สภาแห่งสาธารณรัฐ เป็นเสมือนที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ประกอบด้วย (Council of the Republic) อดีตประธานาธิบดี อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สภาแห่งสาธารณรัฐอาจจะช่วยจัดตั้งรัฐบาลในกรณีที่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ไม่สามารถตกลงกับจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐสภา นอกจากนี้ สภาแห่งสาธารณรัฐอาจให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภา
- คณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรีจะต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา และอาจถูกยุบได้ด้วยการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจจากรัฐสภา
- อำนาจนิติบัญญัติ ร่างกฎหมายที่จะผ่านรัฐสภาต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีซึ่งมีสิทธิคัดค้านได้ แต่การคัดค้านกฎหมายของประธานาธิบดีจะไม่มีผล ถ้าเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภายังยืนยันสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว
- อำนาจตุลาการ ประธานาธิบดีโดยคำแนะนำของสภาตุลาการจะแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตลอดชีวิต ผู้พิพากษาจะเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อผู้ใด กรีซมีศาลปกครอง ศาลแพ่ง และศาลอาญา นอกจากนี้ ยังมีศาลสูงพิเศษซึ่งมีอำนาจตัดสินเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2552

ในการเลือกตั้งทั่วไป พรรค PASOK สามารถเอาชนะพรรค ND ได้ตามความคาดหมาย ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 43.92 ได้ ส.ส. 160 คนจาก ส.ส. ในสภาทั้งหมด 300 คน จึงทำให้พรรค PASOK สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวบริหารประเทศ โดยนายปาปันเดรอูดำรงตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควบคู่กัน
การพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรค ND ในครั้งนี้ เนื่องมาจากข่าวอื้อฉาวเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงกรณีบุคคลในรัฐบาลรับเงินจากภาคเอกชน ความล้มเหลวในการยุติเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ปลายปี ๒๕๕๑ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2533 การลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ (ครั้งล่าสุดที่หน้าตลาดหลักทรัพย์กรีซ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552) และเหตุการณ์ไฟป่าใกล้กรุงเอเธนส์เมื่อเดือนสิงหาคม 2552
ผลจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การเมืองกรีกยังคงเป็นระบบทายาท (Inherited Democracy) โดยนายปาปันเดรอู และนายคารามานลิส อดีตนายกรัฐมนตรี ต่างเป็นทายาทของ 2 ตระกูลใหญ่ทางการเมืองที่ผลัดกันบริหารประเทศ จึงทำให้ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดขึ้นครองอำนาจ ก็ไม่มี
แรงกดดันที่จะต้องพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ ส่งผลให้กรีซกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังประเทศหนึ่งในยุโรป
คณะรัฐมนตรีปัจจุบันประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 17 คน โดยเป็นรัฐมนตรีสตรีจำนวน 5 คน (ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพาณิชย์ / สิ่งแวดล้อม พลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ / ศึกษาธิการ / สาธารณสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม / การพัฒนาทางเกษตรกรรมและอาหาร)
ทั้งนี้ กรีซมีตำแหน่ง Alternate Minister of Foreign Affairs ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงกว่า Deputy Minister of Foreign Affairs และในทางปฏิบัติ จะทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีภาระควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทั่วไปที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อกรีซอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การเข้าพบกับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ประจำกรีซ เป็นต้น

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลปัจจุบันมี ดังนี้ (๑) ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (๒) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (๓) ส่งเสริมบทบาทของกรีซภายใต้องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe - OSCE) (๔) มุ่งหวังให้กรีซเป็นประเทศที่อยู่ในจุดศูนย์กลาง ไม่ใช่ชายขอบของการพัฒนาต่างๆ (๕) สนับสนุนกรีกไซปรัส โดยต้นตอของปัญหาเรื่องนี้เกิดจากการที่ตุรกีใช้กำลังทหารบุกยึดไซปรัส และกรีซสนับสนุนตุรกีเข้าเป็นสมาชิก EU ภายใต้เงื่อนไขที่ตุรกีต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EU (๖) แสดงบทบาทนำในคาบสมุทรบอลข่าน โดยสนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิก EU ภายในปี ๒๕๕๗ สำหรับมาซิโดเนีย จะต้องมีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับชื่อประเทศให้สำเร็จก่อนที่กรีซจะสนับสนุน (๗) ดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างสมเกียรติ โดยจะหารือกับสหรัฐฯ อย่างเท่าเทียม และกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียยิ่งขึ้น (๘) ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่ (emerging power) เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ในขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทของกรีซในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลดำ และตะวันออกกลาง โดยกรีซสนใจการแก้ไขปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (๙) พัฒนาบทบาทของกรีซเกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป ในฐานะที่กรีซเป็นประเทศที่มีท่อลำเลียงก๊าซ/น้ำมันผ่านเข้าสู่ยุโรป (๑๐) ให้ความสำคัญกับการทูตเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และ (๑๑) ถือว่าชุมชนกรีกในต่างประเทศเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของกรีซ และปรับปรุงการให้บริการแก่คนกรีกในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่นี้ ไม่ได้มีเนื้อหาที่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อน โดยเรื่อง EU ยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายของกรีซ กล่าวคือ กรีซหาผลประโยชน์จากการเป็นสมาชิก EU ใน ๒ ลักษณะ คือ (๑) ได้รับเงินช่วยเหลือจาก EU ในจำนวนที่สูงมากตลอดมา (๒) ใช้ EU เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมบทบาท ผลประโยชน์ และเจรจาต่อรองแก้ปัญหากับประเทศต่างๆ อาทิ ปัญหากรีซ-ไซปรัส-ตุรกี การขู่ไม่สนับสนุนมาซิโดเนียเข้าเป็นสมาชิก EU หากไม่มีข้อสรุปเรื่องชื่อประเทศใหม่ของมาซิโดเนีย และการเรียกร้องให้ EU ช่วยแบกรับภาระปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจของกรีซในปัจจุบัน หากกรีซไม่ได้เป็นสมาชิก EU และไม่ได้อยู่ใน Eurozone เศรษฐกิจของกรีซอาจประสบภาวะไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศ และมีการลดค่าเงิน เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ นอกจากเรื่อง EU กรีซจะมุ่งเน้นเรื่องปัญหากรีซ-ตุรกี-ไซปรัส และชื่อประเทศมาซิโดเนีย ส่วนเรื่องอื่นๆ ตามแถลงการนโยบายต่างประเทศนั้น คงไม่ส่งผลในเชิงรูปธรรมเท่าใดนัก เนื่องจากบทบาท/อิทธิพลที่จำกัดของกรีซ
ความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆ กรีซคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคอื่นๆ ไม่มากนักเหมือนที่ผ่านมา โดยภายใต้รัฐบาลชุดเก่า กรีซไม่ให้ความสนใจกับประเทศในเอเชีย แม้แต่ประเทศสำคัญอย่างญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ได้เริ่มมีการกล่าวถึงประเทศในเอเชีย ในฐานะประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่บ้างแล้ว
นอกจากนี้ การสร้างความน่าเชื่อถือของกรีซ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลกรีซให้ความสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลชุดเก่า (ภายใต้การนำของนายคารามานลิสแห่งพรรค ND) คาดการณ์ว่า ปี ๒๕๕๒ กรีซจะขาดดุลเพียงร้อยละ ๓.๗ ของ GDP แต่ทันทีที่รัฐบาลปัจจุบันเข้าบริหารประเทศกลับประเมินว่า ตัวเลขอาจสูงถึงร้อยละ ๑๒ ของ GDP ซึ่งสร้างความห่วงกังวลให้ EU อย่างมาก อนึ่ง รัฐบาลกรีซได้แก้ไขตัวเลขทางเศรษฐกิจให้ดีกว่าสภาพความเป็นจริงเพื่อให้กรีซสามารถเข้าเป็นสมาชิก Eurozone ในปี ๒๕๔๔



เศรษฐกิจการค้า
GDP 314.6 พันล้าน USD (2551)
อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 4 (2551)
GDP per capita 28,273 USD (2551)
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3 (2551)

อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว*, อาหารแปรรูป, สิ่งทอ
ทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ, ปิโตรเลียม, หินอ่อน
ตลาดนำเข้าสำคัญ เยอรมนี อิตาลี รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน
ตลาดส่งออกสำคัญ อิตาลี เยอรมนี บัลแกเรีย สหราชอาณาจักร ไซปรัส

สินค้านำเข้าสำคัญ ถ่านหิน สังกะสี เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและรถยนต์
สินค้าส่งออกสำคัญ ธัญพืช ไวน์ อะลูมิเนียม ผัก อาหารสำเร็จรูป น้ำมันมะกอก นมเนย

*กรีซมีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 15 ของ GDP และกรีซยังเป็นศูนย์การพาณิชย์นาวีและเป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเรือพาณิชย์เอกชนมากที่สุดในโลก ล่าสุดจากการสำรวจของ World Economic Forum ในปี 2009 ซึ่งได้มีการจัดลำดับความสามารถด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก กรีซอยู่ในลำดับที่ 24 และไทยอยู่ในลำดับที่ 39

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-กรีซ

มูลค่าการค้ารวม (ปี 2552) 240.53 ล้าน USD ไทยส่งออก 217.09 ล้าน USD นำเข้า 23.44 ล้าน USD ไทยได้เปรียบดุล 193.64 ล้าน USD

ไทยส่งออก รถบรรทุก เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องประดับทอง/เงิน รถจักรยานยนต์และอะไหล่
ไทยนำเข้า ผลไม้แห้งและถั่ว น้ำมันปิโตรเลียม ผักและผลไม้ดอง สีย้อม/วัตถุแต่งสี สีทาและน้ำยาขัดเงา ยา

สภาพเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจภายในรัฐบาลปัจจุบัน

1. เศรษฐกิจของกรีซจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบร้อยละ ๑.๑๔ และ ๑.๗ ตามลำดับ เนื่องจากการลดลงของ (๑) ความเชื่อมั่น (๒) รายรับจากการท่องเที่ยว และการขนส่งทางเรือ (๓) การลงทุน (๔) การบริโภคของภาคเอกชน และ (๕) การส่งออก นอกจากนั้น กรีซยังมีหนี้สาธารณะสูงเกือบร้อยละ ๑๐๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP) ล้มเหลวในการบรรุลเป้าหมายทางการคลังอย่างต่อเนื่อง และรายรับรายจ่ายของประเทศไม่สมดุลอย่างมากด้วย
เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต กรีซไม่สามารถผัดผ่อนการแก้ไขปัญหาสถานะการคลังที่ย่ำแย่ของประเทศได้อีกต่อไป โดยต้องเร่งพิจารณาความไม่สมดุลด้านการคลัง กล่าวคือ
(๑) การคลัง และดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศขาดดุลในระดับที่สูง (๒) เงินเฟ้อและค่าจ้างแรงงานเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าของประเทศคู่ค้า ซึ่งลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ (๓) การลงทุนจากต่างประเทศลดต่ำลง ซึ่งหากรัฐบาลกรีซไม่ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง IMF คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๑๖ ของ GDP ในปี ๒๕๕๓ เป็นร้อยละ ๑๒๐ ในปี ๒๕๕๔
นอกจากนี้ รัฐบาลกรีซต้องเร่งพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศและดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (๑) ระบบประกันสังคมที่กรีซต้องแบกรับภาระจำนวนประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต (ขยายอายุเกษียณ ยกเลิกเงินโบนัสสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ จำกัดการเพิ่มเงินเดือน) (๒) การเงิน/การคลังเพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ (ขยายฐาน/ปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษี แก้ไขความซับซ้อนระบบภาษี) (๓) การศึกษา (ปรับปรุงคุณภาพ และพัฒนาการศึกษาทุกระดับ) และ (๔) ระบบสาธารณสุข/การแพทย์ (พัฒนาให้โรงพยาบาลมีการบริหารจัดการที่ทันสมัย ปรับปรุงโครงสร้างการบริการสาธารณสุขให้มีเอกภาพ)
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซไม่ได้อยู่ที่การขาดดุล ซึ่งก็มีหลายประเทศประสบปัญหาเช่นกัน อาทิ สหรัฐฯ และอิตาลี แต่อยู่ที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยกรีซไม่สามารถผลิตสินค้า/บริการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ แม้แต่กับประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม ดังสะท้อนให้เห็นได้จาก World Competitiveness Scoreboard ประจำปี ๒๕๕๒ ของสถาบันพัฒนาการจัดการนานาชาติ (Institute for Management Development - IMD) ซึ่งกรีซได้อันดับที่ ๕๒ (ไทย อันดับที่ ๒๖) จากทั้งหมด ๕๗ เขตเศรษฐกิจ โดยมีเพียง ๕ ประเทศที่ได้อันดับต่ำกว่ากรีซ คือ
โครเอเชีย โรมาเนีย อาร์เจนตินา ยูเครน และเวเนซุเอลา
2. นายปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ประกาศจะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาของประเทศโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ มีมูลค่ารวม ๓ พันล้านยูโร โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดการว่างงาน และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อาทิ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ให้เงินช่วยเหลือชั่วคราวแก่ผู้มีรายได้น้อย และลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี นายปาปันเดรอูประกาศจะไม่เพิ่มภาระภาษีแก่ประชาชน ดังนั้น รัฐบาลกรีซคงไม่มีทางเลี่ยงอื่นนอกจากจะต้อง (๑) กู้เงินเพิ่มมากขึ้น (รัฐบาลกรีซได้กู้เงินรวมกว่า ๕๐ พันล้านยูโรในช่วงที่ผ่านมา) ซึ่งจะทำให้ภาวะขาดดุลทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission - EC) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ ๓ ซึ่งที่ผ่านมากรีซก็พยายามเจรจาขอผ่อนปรนเรื่อยมา และพยายามแก้ปัญหาสะสมที่ประชาชนมักหลบเลี่ยงการชำระภาษี รวมทั้งเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูง เพื่อให้รัฐบาลมีรายรับมากขึ้น
3. กรีซพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (European Union – EU) ค่อนข้างมาก คิดเป็นร้อยละ ๓.๓ ของ GDP โดยเงินส่วนใหญ่ใช้ไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ดี เงินช่วยเหลือดังกล่าวจะมีมูลค่าลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อจัดสรรให้กับประเทศสมาชิกใหม่ของ EU
4. ในฐานะที่กรีซเป็นประเทศสมาชิก EU และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กรีซจึงต้องเพิ่มบทบาทการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ ๐.๒ ของ GDP โดยจะมุ่งเน้นประเทศในภูมิภาคบอลข่านเป็นสำคัญ


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเฮลเลนิก
ความสัมพันธ์ทางการทูต
ประเทศไทยและกรีซได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในระดับเอกอัครราชทูต ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2501
วันที่ 26 พ.ค. 2551 เป็นวันครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและกรีซ

ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยและกรีซไม่มีปัญหาทางการเมืองต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินมาโดยราบรื่น

จุดแข็งของกรีซ
- สภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สามารถพัฒนาให้เป็น gateway ไปสู่กลุ่มประเทศบอลข่านและกลุ่มประเทศย่านทะเลดำได้ในอนาคต
- เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะขยายตัวซึ่งจะนำไปสู่การนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
- มีความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ที่ดีกับไทยมาโดยตลอด
- มีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญในบางสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่น การเดินเรือ การท่องเที่ยว เป็นต้น

การท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวกรีซเดินทางมาไทย 13,076 คน (ม.ค.-ก.ย. 2552)
คนไทยในกรีซ มีคนไทยอาศัยอยู่ในกรีซประมาณ 400 คน โดยส่วนมากเป็นหญิงไทยที่สมรสกับชาวกรีก นักเรียน และแรงงานไทย มีนักโทษจำนวน 1 คน (ปี 2552)


แรงงานไทยในกรีซ
กรีซมีกำลังแรงงานทั้งประเทศประมาณ 4.37 ล้านคน และประสบปัญหาอัตราการว่างงานสูงถึงประมาณร้อยละ 9 นอกจากนี้ กรีซยังมีปัญหาผู้อพยพหรือผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแอลแบเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย บัลแกเรีย และเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ประมาณ 800,000 คน ดังนั้น รัฐบาลกรีซจึงมีนโยบายไม่รับแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานอีกและมีความเข้มงวดในเรื่องการเข้าเมืองมาก
สำหรับคนไทยที่เข้าไปทำงานในกรีซ ปัจจุบัน มีประมาณ 100 คน เข้าไปทำงานได้ด้วยการติดต่อกับคนรู้จักหรือญาติ โอกาสของแรงงานไทยมี 2 ประเภท คืองานแม่บ้านซึ่งคงจะขยายอีกไม่ได้มากนัก และงานกะลาสีเรือ ซึ่งปัจจุบัน แรงงานจากฟิลิปปินส์และอินเดียครอบครองอยู่

ความตกลงทวิภาคีที่ได้ลงนามแล้ว
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕
- ความตกลงด้านวัฒนธรรม ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๗

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ
- อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินเรือพาณิชย์
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และวิชาการ

การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไทย
ระดับพระราชวงศ์
- วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนกรีซเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อร่วมในพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระราชาธิบดีคอนสแตนตินแห่งกรีซกับเจ้าหญิงอานน์มารีแห่งเดนมาร์ก ที่กรุงเอเธนส์
- วันที่ ๓๐ มีนาคม – ๑๔ เมษายน ๒๕๓๖ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๒๐ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๖ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนกรีซอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑๓ – ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๖ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ

ระดับรัฐบาล
- วันที่ ๒๙ กันยายน – ๑ ตุลาคม ๒๕๓๐ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑๕ – ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๑นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เดินทางเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑ – ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนกรีซอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม ซึ่งจัดโดย ASIA FORUM ๒๐๐๐ ณ เมืองเทสซาโลนิกิ ประเทศกรีซ และได้พบปะหารือข้อราชการทวิภาคีกับนาย กริกอริส นิโอติส (Grigoris Niotis) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ
- วันที่ ๑๒ – ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ๒๐๐๔
- วันที่ ๒๖ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๑๖ – ๒๐ กันยายน ๒๕๔๗ นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางเยือนกรีซ ๒ ครั้ง ในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่กรุงเอเธนส์
- วันที่ ๓ - ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรีซ
- วันที่ ๔ - ๕ กันยายน ๒๕๔๙ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรีซ
- วันที่ ๔ - ๗ กันยายน ๒๕๔๙ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เดินทางเยือนกรีซ
ฝ่ายกรีซ
ระดับรัฐบาล
- วันที่ ๕ – ๗ เมษายน ๒๕๒๙ นายแอนเดรแอส ปาปานดรู (Andreas Papandreou) นายกรัฐมนตรีกรีซ เดินทางเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ
- วันที่ ๒๙ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๖ นางเวอร์จิเนีย ซูเดอรู (Virginia Tsouderou) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑ – ๒ มีนาคม ๒๕๓๙ นายอาคิส โซชัทซูปูลอส (Akis Tsochatzopoulos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกรีซ เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีกรีซเดินทางมาร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑
- วันที่ ๕ – ๗ เมษายน ๒๕๓๙ นายแอนเดรแอส ปาปานดรู (Andreas Papandreou) นายกรัฐมนตรีกรีซเยือนไทย
- วันที่ ๘ – ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ นายทีโอโดรอส ปานกาลอส (Theodoros Pangalos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๒๙ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ นายอเล็กซานดรอส ฟิลอน (Alexandros Philon) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกรีซและภริยาเยือนไทย
- วันที่ ๒๒ – ๒๖ เมษายน ๒๕๔๑ นายคอนสแตนตินอส เจ อิฝราคิส (Constantinos J. Ivrakis) รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกรีซเดินทางเยือนไทย
- วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ นายกริกอริส นิโคติส (Grigoris Niotis) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกรีซ เยือนไทย
- วันที่ ๓ และ ๘ มีนาคม ๒๕๔๕ นายคอนแสตนตินอส ซิมิติส (Constantinos Simitis) นายกรัฐมนตรีกรีซแวะเยือนไทย (transit) ก่อนการไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๙ – ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ นายดิมิทริส อวารามูปูลอส (Dimitris Avramopoulos) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวกรีซ เยือนไทย
- พฤศจิกายน ๒๕๔๗ นายนิคอส ซัทซิโอนิส (Nikos Tsatsionis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการเขตมาซิโดเนียและเทรซ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้กรีซเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โป ในปี ๒๕๕๑
- วันที่ ๒๕ - ๒๗ กุมภาพันธ์ และ ๑ - ๕ มีนาคม ๒๕๕๐ นาย Konstantinos Simitis อดีตนายกรัฐมนตรีกรีซ เดินทางเยือนไทย
- วันที่ ๑๓ - ๑๖ เมษายน ๒๕๕๐ นาย Michael Liapis รมว.คมนาคมกรีซและนาย Georgios Tzoulas ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกรีซ เยือนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น